Tue, 2014-06-17 12:29
ชาร์ลี เธม อาจารย์ธรรมศาสตร์และผู้สอนในโครงการพม่าของ ม.เปิดออสเตรเลีย เขียนกรณีไล่ต้อนแรงงานข้ามชาติในไทยว่าเป็นความพยายามกันให้ห่างจากพื้นที่เมืองชั้นในเพื่อให้อยู่แต่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งกำลังวางแผนจัดตั้ง แต่ก็คาดว่าจากนี้ไทยคงเกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน ขณะที่พม่าจะหนุนให้คนทำงานในประเทศมากขึ้น
16 มิ.ย. 2557 เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ชาร์ลี เธม อาจารย์สาขาโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้สอนด้านสังคมศาสตร์ในโครงการพม่าของมหาวิทยาลัยเปิดออสเตรเลีย ได้เขียนบทความเผยแพร่ในเว็บไซต์นิวแมนดาลาเกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยที่ถูกรัฐบาลเผด็จการปราบปรามและไล่ต้อนโดยอ้างว่าเป็นการ "แก้ปัญหา" แรงงานข้ามชาติ
เธม ระบุในบทความว่าการปราบปรามแรงงานข้ามชาติของไทยมักจะเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ซึ่งโดยปกติแล้วในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังบูม ทางการไทยจะมีท่าทีปล่อยเสรีให้กับแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารรับรอง แต่ในช่วงขาลงมักจะมีการปราบปรามพวกเขา แต่เธมคิดว่าในการปราบปรามครั้งนี้แตกต่างออกไป ซึ่งน่าจะเป็นความพยายามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการอ้างประเด็นการรักษาความมั่นคงและควบคุมแผนการลดภาษีเพื่อเตรียมพร้อมกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ
เธม เปิดเผยว่ามีเรื่องที่น่าสนใจคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยทำวิทยานิพนธ์เชิงวิจัยในช่วงที่เรียนอยู่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรปี 2550-2551 เป็นเรื่องเกี่ยวกับบทบาทของกองทัพต่อการตอบโต้ 'ภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่' (non-traditional security threats) ซึ่งในวิทยานิพนธ์ของเขาระบุให้แรงงานข้ามชาติและบุคคลที่ไม่ได้มีเอกสารรับรองเป็นหนึ่งในสี่กลุ่มคนที่เป็นภัยต่อสังคมไทยอย่างเร่งด่วน
อาจารย์จากธรรมศาสตร์เปิดเผยอีกว่าแรงงานช้ามชาติในไทยมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยจนทำให้ไม่สามารถใช้นโยบายการอพยพเข้าเมืองที่มีลักษณะล้าหลังและเอียงขวาได้เต็มที่ ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมากองทัพไทยก็เริ่มมีท่าทีล่าถอย บอกว่าเข้าใจถึงความสำคัญของแรงงานข้ามชาติต่อระบบเศรษฐกิจ และปฏิเสธว่าไม่ได้ใช้วิธีการรุนแรง ในสภาพที่น่าตั้งคำถามเช่นนี้เธมมองว่า คสช. พยายามเร่งแผนการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในแถบชายแดนไทย
เขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นเรื่องที่รัฐบาลทักษิณชุดแรกพยายามส่งเสริมซึ่งเป็นการต่อยอดนโยบายของอดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ เพื่อผลักดันให้มีการพัฒนาเมืองในส่วนภูมิภาคของประเทศ รวมถึงมีการส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดชายแดน รวมถึงใช้มาตรการภาษีในการกระตุ้นให้นักธุรกิจไปลงทุนในเขตพื้นที่ซึ่งยังพัฒนาไม่มาก
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วง เม.ย. 2554 รัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้ประกาศว่าอำเภอแม่สอด ในจังหวัดตาก จะเป็นพื้นที่แรกที่จะมีการพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ จากพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ 11 แห่ง แต่ด้วยภาวะทางการเมืองที่ "ไม่ราบรื่น" ในกรุงเทพฯ รวมถึงปัญหาด้านกฎหมายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ ทำให้แผนถูกชะลอลง
แต่พล.อ. ประยุทธ์ ก็ประกาศแผนการเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษอีกครั้งเมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมา เป็นสาเหตุให้พยายามกันแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายเข้าไปอยู่ในจังหวัดชั้นในของประเทศไทยโดยอ้างว่าเพื่อให้โอกาสคนไทยมีงานทำมากขึ้น และในวันที่ 2 มิ.ย. นายกเทศมนตรีของแม่สอดก็ได้เข้าพบกับผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 4 เพื่อเดินหน้าแผนเขตเศรษฐกิจพิเศษ
อย่างไรก็ตามเธมระบุในบทความว่าการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานที่อาศัยอยู่ในพม่าข้ามฝั่งเข้ามาทำงานในประเทศไทยทุกวัน แต่ในแม่สอดคนงานไม่ได้มาจากพม่า พวกเขาเป็นชาวพม่าอาศัยอยู่ในพื้นที่ ทำให้แม่สอดกลายเป็น "เขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างไม่เป็นทางการ" ก่อนหน้านี้หลายปีแล้ว ทำให้มีประชากรผู้อพยพทั้งที่มีและไม่มีเอกสารรับรองอยู่จำนวนหนึ่ง การนำเขตเศรษฐกิจพิเศษไปใช้จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
เขามองว่าสิ่งที่กรมจัดหางานเคยประกาศไว้อีกก่อนหน้านี้คือการจัด "โซนผู้อพยพ" แทนการให้กลับประเทศโดยมีแผนโครงการนำร่องในสมุทรสาครและระนองอีก 2 เดือนข้างหน้า ซึ่งถ้าหากโครงการนี้มีการดำเนินการอย่างโปร่งใสแล้วจะส่งผลดีต่อทั้งฝ่ายแรงงานอพยพและผู้จ้างวานโดยมีความเป็นไปได้ว่าแรงงานจะได้รับการคุ้มครองมากขึ้น
อย่างไรก็ตามเธมได้ชี้ให้เห็นถึงท่าทีของ คสช. ว่าพวกเขาพยายามจำกัดการเคลื่อนไหวของผู้อพยพ ซึ่งเป็นการยับยั้งไม่ให้เกิดภาวะเงินเฟ้อจากค่าแรงเพื่อคงความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแถบชายแดนอย่างเช่นเกษตรกรรม หรืออุตสาหกรรมสิ่งทอ แต่ก็ไม่ทราบว่าจะมีการชดเชยให้กับแรงงานเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนได้อย่างไรบ้างและสมดุลผลประโยชน์จะเอียงไปข้างไหน
เธมคิดว่าวิธีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษจะมีลักษณะที่ก้าวหน้าและเกิดการมีส่วนร่วมคงเป็นการ "ได้แต่หวัง" ดูจากการที่ประเทศไทยนิยมใช้แรงงานผู้อพยพอย่างหนัก รวมถึงมีกรณีของการใช้แรงงานทาส รวมถึงกรณีที่ไทยเป็นประเทศเดียวที่คัดค้านพิธีสารสนธิสัญญาบังคับใช้แรงงานของไอแอลโอซึ่งต่อมาถึงได้มีการกลับคำ
"ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ประเทศไทยคงต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนแรงงาน และพม่าคงส่งเสริมให้แรงงานกลับไปทำงานที่บ้านเกิดมากกว่า ประเทศไทยควรจะรีบๆ ตื่นแล้วรับรู้เสียทีว่าผู้อพยพเป็นทรัพยากรบุคคล ไม่ใช่เป็นภัย" เธอกล่าวในบทความ
เรียบเรียงจาก
Ominous signs for migrant workers in Thailand, Charlie Thame, New Mandala, 15-06-2014
http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/2014/06/15/ominous-signs-for-migrant-workers-in-thailand
http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/2014/06/15/ominous-signs-for-migrant-workers-in-thailand
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น