วันอังคาร ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2557, 14.53 น.
24 มิ.ย. 57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เชิญ นายเฆซูส มิเกล ซานส์ เอกอัครราชทูตแห่งสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เข้าพบที่ กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหารือและแสดงท่าทีของไทยจากมติของคณะรัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ ระหว่างการร่วมประชุมสภาคณะกรรมการสหภาพยุโรปที่ประเทศลักเซมเบิร์ก เมื่อวานนี้ โดยประณามกองทัพไทยที่ยึดอำนาจบริหาร
ภายหลังการหารือ ปลัดต่างประเทศได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า ไทยได้แสดงความผิดหวังต่อมาตรการที่อียูประกาศ เพราะไม่ได้สะท้อนหรือคำนึงถึงพัฒนาการล่าสุดในทางการเมืองของไทย อีกทั้งยังได้แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการที่อียูดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว ทั้งที่ประเทศไทยเปิดกว้าง หากมีข้อสงสัยก็สามารถพูดคุยกันได้
ส่วนกรณีที่อียูไม่มั่นใจในโรดแมป 3 ขั้นตอน ไทยได้ชี้แจงว่าไม่ควรด่วนสรุป เพราะไทยกำลังดำเนินการตามเส้นทางโรดแมป เพื่อนำประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย ซึ่งอียูควรติดตามการปฏิบัติของไทย ในฐานที่เป็นมิตรประเทศ และควรเข้าใจสิ่งที่ไทยกำลังทำอยู่และเอาใจช่วย
สำหรับกรณีอียูระงับการเยือนไทยของรัฐมนตรีในกลุ่มประเทศสมาชิกและการระงับลงนาม PCA นั้น ไทยมีความเข้าใจท่าทีของอียู เพราะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ใช่ของฝ่ายไทยฝ่ายเดียว ขอให้เขาพิจารณาทบทวนมาตรการต่างๆ ให้ดี ควรคำนึงถึงผลประโยชน์ระยะยาวด้วย
อย่างไรก็ตามการระงับลงนาม PCA จะไม่ส่งผลกระทบไปถึงการเจรจาข้อตกลงเปิดการค้าเสรี (FTA) ไทย-อียู ซึ่งอยู่ในขั้นเริ่มต้น และกำลังคงมีการเจรจาด้านเทคนิคต่อไป
นายสีหศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า นายเฆซูส ได้ยืนยันว่าแถลงการณ์ของอียู เป็นเพียงการกำจัดเฉพาะบางด้านเท่านั้น ไม่ใช่การคว่ำบาตรไทย ทั้งการท่องเที่ยว การค้าการลงทุน และภาคเอกชน ทุกอย่างยังคงเป็นไปตามปกติ และอียูยังหวังว่าไทยจะกลับสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า แถลงการณ์ของอียูมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ไทยหรือไม่ นายสีหศักดิ์ ตอบว่า หลายประเทศมองข้ามสถานการณ์วันที่ 22 พ.ค. ไปแล้ว โดยเขามองไปข้างหน้าว่าไทยจะเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่คาดหวังให้ไทยเดินเข้าสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว
ส่วนกรณีที่มีข่าวสินค้าอาหารทะเลของไทย อาจถูกจำกัดหรือกีดกันการนำเข้าในต่างประเทศ ขณะนี้ได้เร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับหลายประเทศ และได้สั่งการให้เอกอัครราชทูตไทยประจำยุโรป ทำงานร่วมกับผู้ช่วยทูตพาณิชย์ ในการพบปะกับภาคเอกชนของแต่ละประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องการใช้แรงงานบังคับ แรงงานเด็ก แรงงานในภาคประมง อย่างไรก็ตามไทยยังคงเข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน-อียู ในเดือน ก.ค.เดิมกำหนดการเดิม
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น