ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร ในสถานการณ์ที่ผู้คนถูกเรียกรายงานตัวและโดนจับกุมไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะพักหลังที่ชะตากรรมเริ่มตกอยู่กับประชาชนคนธรรมดาที่ไม่ได้มีสถานะและชื่อเสียง “เธอ” คอยเป็นธุระและเป็นที่พึ่งสุดท้ายให้กับญาติพี่น้องของคนที่ถูกจับกุมตัว ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี และนักโทษการเมืองเหล่านั้น ไม่รู้เลยว่าวันๆ เธอต้องหมดเวลาไปกับการรับฟังถ้อยคำระบายทุกข์จากเพื่อนมนุษย์ที่ไม่ใช่ญาติของตัวเองวันละเท่าไหร่ ไหนจะต้องคอยตามข่าว ประสาน ตามคดี ปลอบญาติ เขียนข่าวในฐานะสื่อ ฯลฯ  วันแล้ววันเล่า เธอเดินเข้าออกสโมสรกองทัพบก สถานีตำรวจ ศาล กองปราบ เรือนจำ ราวกับแยกร่างได้ ในขณะที่ผู้คนมากมายตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว บ้างเอาแต่บ่น ก่นด่า หรือไม่ก็เฉยชา ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการลิดรอนเสรีภาพที่เกิดขึ้น เธอยังคงทำหน้าที่ในแต่ละวันต่อไป และนับวันดูเหมือนผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือจะเข้ามาหาเธอมากขึ้นเรื่อยๆ

วันนี้ผมมีโอกาสติดตามเธอมาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมได้มาเยี่ยมนักโทษในเรือนจำ อีกทั้งนักโทษที่เราติดต่อขอเยี่ยมทั้งหมดยังได้ชื่อว่าเป็น “นักโทษทางความคิด” อีกด้วย พวกเขาไม่ใช่นักฆ่า โจรห้าร้อย หัวขโมย หรืออาชญากรโหดเหี้ยม พวกเขาถูกจองจำเพียงเพราะคิดต่างจากสิ่งที่ผู้มีอำนาจในบ้านนี้เมืองนี้อยากให้คิดก็เท่านั้น...
เฉลียวเป็นชาวร่างเล็กผิวคล้ำ เขาปรากฏตัวในชุดนักโทษสีน้ำตาล สภาพห้องเยี่ยมที่เราเข้าไปนั้นไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าไหร่ โทรศัพท์ที่ใช้สื่อสารระหว่างภายในกับภายนอกไม่ทำงาน ทำให้ต่างฝ่ายต่างต้องคอยย่อตัวเก้ๆ กังๆ ตะโกนผ่านช่องเล็กๆ ย้ำคำถามคำตอบกันไปมาแบบไม่สะดวกนัก

เฉลียวประกอบอาชีพเป็นช่างตัดสูท ตัดกางเกง แถวสะพานซังฮี้ เป็นประชาชนที่มีความสนใจการเมือง เขาชอบฟังรายการวิทยุของดีเจเสื้อแดงคนหนึ่ง ซึ่งดูจะมีเนื้อหาวิเคราะห์การเมืองที่ค่อนข้างล่อแหลมตรงไปตรงมา เขาชื่นชอบจนถึงกับโหลดคลิปรายการเหล่านั้นมาเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ ทั้งยังอัพโหลดขึ้น 4shared ให้ใครที่สนใจสามารถโหลดเอาไปฟังก็ได้ เมื่อถามว่าดีเจ…เป็นใคร เอาคลิปมาจากไหน เฉลียวตอบว่า "หาไม่ยากเลยครับ ใน google ก็มี"

หลังจากถูกคสช. เรียกรายงานตัว เฉลียวถูกสอบสวนอย่างหนัก เพราะถูกตั้งข้อสงสัยว่าตัวเขานั่นแหละคือดีเจเสื้อแดงคนนั้น

…เฉลียวยืนยันว่าเป็นแค่แฟนที่ติดตามรายการ แต่แล้วเขาก็ถูกตั้งข้อหา ทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 และพรบ.คอมพิวเตอร์

เฉลียวดูเป็นชาวบ้านซื่อๆ ธรรมดาผู้ยอมรับชะตากรรมของตัวเอง เขาตัดสินใจรับสารภาพตั้งแต่ในชั้นสอบสวน ตอนนี้รอขึ้นศาล ฟังคำตัดสิน และเตรียมยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ตามลำดับ

"ผมแค่สนใจการเมืองเท่านั้นเอง ผมรับสารภาพเรื่อง upload คลิปบนอินเตอร์เน็ต แต่โทษที่ได้รับมันรุนแรงเกินไป …ตอนนี้ก็ทำใจแล้วว่าคงต้องอยู่ในนี้ไปอีกพักใหญ่"
อภิชาติอยู่ในชุดนักโทษสีเหลือง แววตาของเขาดูมีประกายและเข้มแข็ง เพื่อนที่ไปเยี่ยมด้วยกันเล่าให้ฟังว่าครั้งที่แล้ว สภาพจิตใจเขาค่อนข้างแย่ เพราะยังปรับตัวไม่ค่อยได้ นอนไม่หลับ ตาโหลลึก แต่พอได้มาเยี่ยมครั้งนี้ เขาดูโอเคเลยทีเดียว คุยไปคุยมา กลายเป็นว่าคนที่ได้รับกำลังใจคือคนที่อยู่ข้างนอกเสียมากกว่า…

อภิชาติ นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วัย 25 ปี ถูกทหารจับตัวขึ้นรถไปตั้งแต่เย็นวันที่ 23 พฤษภาคม ระหว่างกิจกรรมชูป้ายต้านรัฐประหารที่หน้าหอศิลป์ อีกคนที่ถูกจับไปพร้อมกันคือธนาพล ซึ่งในกรณีนั้น หลังจากถูกกักตัวในค่ายทหารเจ็ดวันก็ได้รับปล่อยตัว โดยไม่ถูกตั้งข้อหา แต่ในกรณีอภิชาตินั้นแตกต่างออกไป…

เขาถูกยัดข้อหา 112 เพิ่ม โดยเล่าว่ามีบุคคลที่ไม่ประสงค์ดีและเคยขัดแย้งทางความคิดกับเขาในโลกออนไลน์ แคปโพสต์ต่างๆ ที่เขาเคยแสดงทัศนะเชิงตั้งคำถามในทางวิชาการต่อสถาบันกษัตริย์ลงใน FB ไปเป็นหลักฐานให้กับทหาร เขาถูกสอบอย่างหนัก และสุดท้ายก็ถูกสั่งฟ้อง เขายืนยันว่าข้อความเหล่านั้นไม่มีอะไรเลย เป็นข้อความที่โพสต์มาเป็นปีแล้ว ไม่ใช่ข้อความหมิ่นฯ ตอนที่เขาเห็นข้อความทั้งหมดที่ปริ้นท์ออกมา ก็รู้เลยว่าเป็นฝีมือใคร เพราะเคยถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ด้วยคนคนเดียวกันและข้อความเดียวกันนี้มาก่อนแล้ว นี่คือตัวอย่างของการใช้ ม.112 มากลั่นแกล้งคนที่เห็นต่างทางการเมืองอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ต่างกับที่เห็นในเพจล่าแม่มดมากมาย หรือในเพจองค์กรเก็บขยะแผ่นดินที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้

จากการออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านรัฐประหารในเย็นวันที่ 23 พฤษภาคม แต่วันนี้อภิชาติอาจต้องอยู่ในเรือนจำ นานกว่าความผิดฐานการชูป้ายหลายเท่า เพราะถูกตั้งข้อหาทั้งในส่วนของการผิดคำสั่ง คสช. พรบ.คอมพิวเตอร์ และกฏหมายอาญามาตรา 112

"ผมยังมีกำลังใจดีอยู่ และเริ่มปรับตัวได้บ้าง อยู่แดน 3 ก็ไม่ได้ลำบากมาก งานที่ถูกจัดให้ทำ โดยรวมๆ ไม่ใช่งานหนักอะไร มีพวกงานเช็ดโต๊ะ ทำความสะอาด"  (ล่าสุดมีข่าวดี ว่าเขาได้รับการย้ายจากแดน 3 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแดนอันตราย มาอยู่รวมกับนักโทษการเมืองคนอื่นๆ ในแดน 1 แล้ว)

"ในส่วนของการถูกฟ้องดำเนินคดี ผมรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น"

"กฎหมาย 112 เป็นกฏหมายที่เป็นปัญหามาก และกำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมืองอย่างรุนแรง อยู่ในนี้มีโอกาสได้เจอพี่สมยศบ้าง พี่เขาก็คอยให้กำลังใจ มีคนที่อยู่มาก่อน แล้วยังอยู่ได้ ก็ช่วยให้รู้สึกอุ่นใจได้บ้าง"

"ติดคุกต้องมีวันออก …อยากส่งกำลังใจให้เพื่อนที่อยู่ข้างนอก เราจะสู้ไปด้วยกัน"
สมยศปรากฏตัวพร้อมกับนักโทษการเมืองจากแดน 1 อีกหลายคน เขาอยู่ในชุดเสื้อนักโทษสีน้ำตาลอ่อน แตกต่างจากคนอื่นๆ ที่อยู่ในชุดสีฟ้า ระหว่างที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจไปที่บก.ลายจุด แถวต่อรอคุยกับสมยศจึงไม่ยาวนัก

คำถามแรก ผมถามสมยศว่า รู้สึกยังไงที่เห็นคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องเข้ามาอยู่ในคุกด้วยเหตุผลทางการเมือง แถมจำนวนไม่น้อยยังถูกยัดข้อหา 112?
"การนำสถาบันกษัตริย์และกฏหมายอาญามาตรา 112 มาเป็นเครื่องมือในการทำลายผู้รักชาติ รักประชาธิปไตยเช่นนี้ จะไม่เป็นผลดีต่อสถาบัน ทั้งยังเป็นการเพิ่มความขัดแย้ง แตกแยกในสังคมให้ร้าวลึกยิ่งขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ เต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วทุกหนทุกแห่ง กระบวนการยุติธรรมไม่ทำงาน จิตสำนึกทางสังคมถึงขั้นบิดเบี้ยว ในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว การปรองดองไม่มีทางสำเร็จ ถามว่าผมรู้สึกยังไง ผมรู้สึกเป็นห่วงประเทศชาติ การใช้กฏหมายนี้เพื่อกำจัดคนคิดต่างทางเมืองไม่เป็นผลดีกับใครเลยจริงๆ”

“การที่สังคมไทยมีนักโทษทางความคิด หรือนักโทษทางมโนธรรม มากขึ้นเรื่อยๆ มันสะท้อนถึงอะไร?  จำนวนนักโทษการเมืองที่เพิ่มขึ้น เป็นดัชนีบ่งชี้ความตกต่ำทางการเมือง…ประเทศไทยกำลังเป็นเหมือนพม่า”

คำถามที่สอง ผมถามว่าสมยศรู้สึกยังไง ที่เห็นคนจำนวนมากขึ้นต้องตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกับเขา?

"การใช้กฏหมายอาญามาตรา 112 เป็นปัญหามากๆ ...โดยปกติความรุนแรงของมันก็มากอยู่แล้ว แต่นี่กลับถูกใช้แบบหว่านแห ครอบจักรวาล อย่างตอนนี้บางคนถูกจับเรื่องชุมนุมต้านรัฐประหาร หรือขัดขืนคำสั่ง คสช. แต่ไปๆ มาๆ กลับถูกสอบหนักแล้วยัดข้อหา 112 หรือพรบ.คอมพิวเตอร์ เพิ่มเติม ซึ่งมันร้ายแรงมาก การใช้เครื่องมือชิ้นนี้ทำให้ต้นทุนการรัฐประหารครั้งนี้สูงมาก ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสถานภาพขององค์กรทางการเมืองในทุกระดับ สร้างบรรยากาศของความหวาดกลัว ความเกลียดชัง และความแตกแยกให้ร้าวลึกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้นผมเห็นว่า ต้องทบทวนการใช้กฏหมายอาญามาตรา 112 ให้ดี"

และคำถามสุดท้าย ผมถามสมยศว่า ประสบการณ์การอยู่ในนี้มาระยะหนึ่ง เป็นประโยชน์กับ “รุ่นน้อง” ที่เพิ่งเข้ามาใหม่อย่างไรบ้าง?

“ผมอยู่ในนี้มานาน ก็คอยช่วยเป็นกำลังใจให้กับหลายๆ คนที่เพิ่งเข้ามาอยู่ใหม่ แรกๆ มันปรับตัวยาก เราเข้าใจเพราะเราเคยผ่านมา ก็คอยเกื้อกูลปัจจัยให้เอื้อต่อการดำรงชีพในนี้ คอยดูแลไม่ให้เกิดอันตราย   นักโทษการเมือง นักโทษ112 เราไม่ได้ไปฆ่าใคร แต่ก็ถูกเอาไปอยู่รวมกับนักโทษที่เป็นอาชญากร ฆ่าคน ทำความผิดหนักๆ ผมอยู่มาสักระยะก็พอมีพรรคพวกเพื่อนฝูงอยู่พอสมควร ก็คอยช่วยดูแลไม่ให้เกิดอันตรายจากนักโทษที่อยู่มาก่อน"
เรือนจำพิเศษกรุงเทพวันนี้คราครั่งไปด้วยผู้คน ส่วนใหญ่ไม่ใช่ญาติของนักโทษที่พวกเขาตั้งใจมาเยี่ยมโดยตรง แต่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ญาติทางความคิด” เพื่อนมนุษย์ที่มีความคิดและความรู้สึกไปในทางเห็นอกเห็นใจต่อความไม่เป็นธรรมที่พวกเขาได้รับ... นักโทษทางความคิดเป็นใคร?  พวกเขาเป็นอมนุษย์ ปีศาจ เชื้อโรคร้าย เป็นพวกต่ำช้าที่ไม่น่าคบหาสมาคมด้วยอย่างที่เราคิดจริงหรือไม่?

ด้านหนึ่ง สังคมไทยพยายามส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ “กล้าคิด” และ “คิดเป็น” แต่อีกด้านหนึ่งก็ตัดสินให้ความคิดบางอย่างเป็นความคิดต้องห้าม “ห้ามคิด” และ “คิดไม่ได้”  ผู้มีอำนาจจึงพยายามเอาความคิดเหล่านั้นไปขังไว้ในคุก จนถึงตอนนี้ เลยชักไม่แน่ใจว่าคุกทางความคิดของประเทศไทยจะต้องมีขนาดใหญ่เท่าไร จึงจะสามารถขังคนที่มีความคิดต่างทางการเมืองได้หมด  รู้แต่ว่านับวันคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ยิ่งมีจำนวนมากขึ้นทุกทีๆ เช่นเดียวกับคนรัก เพื่อน ญาติพี่น้อง และเพื่อนร่วมทุกข์ที่รู้สึกห่วงใยและเจ็บปวดไปกับพวกเขา ก็ทวีจำนวนขึ้นตามไปด้วย
เราแยกย้ายกันตรงหน้าเรือนจำ เธอต้องเดินทางไปกองปราบต่อ ผมกล่าวขอบคุณและแสดงความชื่นชมต่อสิ่งที่เธอทำอยู่ เจออะไรแบบนี้ทุกวันๆ ไม่รู้เธอยังทำมันอยู่ได้ยังไง
“ทุกคนก็ทำได้เท่าที่ทำอ่ะพี่”
จริงอย่างที่เธอว่า...

ในสภาพสังคมแห่งความสุขเช่นทุกวันนี้ เราทุกคนต่างก็เป็นนักโทษทางความคิด