การเหยียดหรือการกีดกัน ที่มีพื้นฐานมากจากความแตกต่างทางเพศ และอายุ ที่แฝงอยู่ใน “มนุษย์ป้า” และการเหมารวมเข่งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา รังแต่จะเหยียด “ป้า” คนอื่นๆ ที่ไม่มีพฤติกรรมเข้าข่ายการเป็น “มนุษย์ป้า”
วาทกรรมยอดนิยมแห่งยุคสมัย คงหนีไม่พ้น “มนุษย์ป้า”อันสืบเนื่อง ถือกำเนิดจากอาการเหลืออดของคนใช้บริการขนส่งมวลชน ที่ต้องผจญกับคนกลุ่มหนึ่งที่มีพฤติกรรมไม่เคารพบรรทัดฐานของสังคมในสังคมกรุง ที่มักจะแซงคิว เบียดขึ้นรถ ลงเรือ หรือแย่งชิงพื้นที่สาธารณะต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย มีการแฉถึงพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ อย่างกว้างขวาง ซึ่งส่วนใหญ่มักพบว่าเป็นเพศหญิงวัยกลางคน จึงทำให้เกิดวาทะกรรมใหม่เอี่ยมอ่อง ที่เรียกว่า “มนุษย์ป้า”
สำหรับบทความนี้ ผมไม่ได้ต้องการจะใช้พื้นที่สื่อเพื่อผลิตซ้ำวาทกรรมดังกล่าว หากแต่ต้องการจะสื่อถึง การเหยียดหรือการกีดกัน ที่มีพื้นฐานมากจากความแตกต่างทางเพศ (Sexism) และอายุ(Ageism) ที่แฝงอยู่ใน “มนุษย์ป้า”
ต้องยอมรับว่า ครั้งแรกที่ผมได้ยินคำนี้ ผมพอเดาได้ว่าผู้คิดค้นคำต้องการสื่อถือคนกลุ่มใด แต่ไม่ได้คิดเลยไปถึง มุมมองในเชิงลบที่มีต่อ คุณ “ป้า” ทั้งหลาย เพราะถ้ามองแต่เปลือกนอก คำว่า “มนุษย์” บ่งบอกถึงคุณลักษณะพิเศษในตัวกลุ่มประชากรที่เรียกว่า “ป้า” ที่แตกต่างจากมนุษย์ประเภทอื่นๆ แต่คำว่า “มนุษย์ป้า” ส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อประชดประชันในเชิงประณามว่า “มนุษย์ป้า” สามารถแสดงพฤติกรรมพิเศษที่ผิดแผกจากบรรทัดฐานทางสังคม อันเป็นสิ่งที่ประชากรกลุ่มอื่นทำไม่ได้ (หรือละอายเกินกว่าจะกระทำ)และสร้างความเดือนร้อนให้แก่บุคคลอื่นๆ
ในมุมมองด้านเพศภาวะ “มนุษย์ป้า” ถูกกีดกัน สองระดับ เพราะความเป็นผู้หญิงและความเป็นบุคคลในช่วงอายุวัยกลางคน
ในการศึกษาด้านความเป็นเมือง (Urban Studies) โดยเฉพาะเรื่องสิทธิที่จะอยู่ในเมือง (Right to the city) ผู้หญิงและผู้สูงวัยส่วนมากมักถูกกีดกัน จัดอยู่ในกลุ่มประชากรที่ถูกละเลย ไม่ถูกให้ความสำคัญในแผนนโยบายด้านผังเมืองและด้านสวัสดิการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเมือง ในอีกมุมมองหนึ่ง ถูกกีดกันเพราะเป็นกลุ่มเปราะบาง ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ดังนั้นแนวทางการจัดการเรื่องสิทธิของผู้หญิงและผู้สูงอายุในเมืองจึง มุ่งเน้นไปที่การตอบสนองความต้องการเฉพาะและขณะเดียวกันก็มุ่งเพิ่มพลัง (Empowerment) ให้คนกลุ่มนี้ สามารถรับรู้และเข้าถึงสิทธิพื้นฐานของการอยู่ในเมืองได้ การให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้ในเชิงนโยบายจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและละเอียดอ่อน เพราะไม่ว่าจะเป็นการละเลยหรือตอกย้ำถึงความเปราะบางก็อาจส่งผลในแง่ลบได้
ในสังคมไทยที่ยืดระบบอาวุโส เมื่อบวกความเป็นเพศหญิงที่ถูกกีดกันว่าเปราะบาง ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เข้ากับวัยกลางคนที่คนไทยส่วนใหญ่ (อายุน้อยกว่า)ต้องให้ความเคารพนับถือผู้ที่ปฏิบัติตัวเป็น “มนุษย์ป้า” จึงอยู่ในสถานะที่แตกต่างจากประชากรกลุ่มอื่น เพราะความบอบบาง (ที่เกิดจากการถูกกีดกัน) สองระดับ ดังนั้น การที่ “มนุษย์ป้า” ได้แสดงพฤติกรรมแย่งชิงพื้นที่สาธารณะ เพราะเหตุผลที่ว่า “ป้าเป็นผู้หญิง ป้าแก่แล้ว ให้ป้าไปก่อนนะ” จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้
การตีตรา “ป้า” ผู้ใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันจึงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เพราะการเหมารวมเข่งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา รังแต่จะเหยียด “ป้า” คนอื่นๆ ที่ไม่มีพฤติกรรมเข้าข่ายการเป็น “มนุษย์ป้า”
มีคนจำนวนไม่น้อยเสนอให้ใช้ คำว่า “มนุษย์ลุง” เพื่อช่วยให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ แม้ความถี่ในการค้นพบ“มนุษย์ลุง” จะน้อยกว่า “มนุษย์ป้า” ก็ตาม อย่างไรก็ดี “มนุษย์ลุง” อาจทำให้เกิดสมดุลทางเพศระดับหนึ่ง แต่การกีดกันที่มีพื้นฐานจากวัย (Ageism) ก็ยังคงอยู่
อีกประเด็นที่น่าสนใจยิ่งคือ เพราะสาเหตุใด ในสังคมเมือง เราจึงพบ “มนุษย์ป้า” ได้มากกว่า “มนุษย์ลุง” อาจเป็นเพราะเหตุผลข้างต้นที่ว่า แม้จะอยู่ในช่วงวัยเดียวกันแต่ “มนุษย์ป้า” เป็นผู้หญิงซึ่งมีความเปราะบางกว่าจึงต้องการสิทธิในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะมากกว่า หรือเนื่องจาก ในช่วงวัยเดียวกัน จำนวนผู้หญิงใช้พื้นที่สาธารณะมากว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงมีหน้าที่จัดการซื้อหาอาหารและของใช้เพื่อครอบครัว? หากเป็นเพราะเหตุผลข้อหลัง แม้สังคมไทยจะพัฒนาในด้านความเท่าเทียมไปมาก แต่ผู้หญิงก็ยังคงบทบาท ทำ “งานของผู้หญิง” อย่างไม่เปลี่ยนแปลง
ดังนั้น เมื่อไม่ควรมี “มนุษย์ป้า”ก็ไม่ควรมี “มนุษย์ลุง” แล้วคำไหนล่ะที่เหมาะสมสำหรับเรียกกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมมักง่าย ไม่คำนึงถึงบุคคลอื่นในพื้นที่สาธารณะ?
ในความเป็นจริง เราสามารถหลีกเลี่ยงโดยใช้คำศัพท์ภาษาไทยที่มีอยู่แล้ว เช่น คนมักง่าย คนเห็นแก่ตัว โดยไม่จำเป็นต้องนำเพศภาวะหรือวัยมากำกับได้ หรือถ้าต้องการวาทกรรมใหม่ ผมขอเสนอ “มนุษย์ซอมบี้”
“มนุษย์ซอมบี้” ในที่นี่ ผมพาดพิงถึงกลุ่มประชากร ไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดวัย ที่ใช้โทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์สื่อสารแบบพกพาในพื้นที่สาธารณะ โดยไม่สนใจผู้คนรอบข้าง เราจะพบเห็นว่า คนกลุ่มนี้ ก้มหน้า ก้มตาง่วนอยู่กับอุปกรณ์สื่อสารของตนขณะเดินหรือใช้พื้นที่ร่วมกับบุคคลอื่น โดยไม่สนใจคนรอบข้าง ไม่หลีกทางเมื่อตัวเองกีดขวางทางสาธารณะ มีพฤติกรรมไม่ต่างจากซอมบี้ในภาพยนตร์ต่างประเทศ ที่ก้มตัวเดินช้าๆ โดยไม่คิดจะใส่ใจบุคคลรอบข้าง
อนึ่ง วาทกรรมแห่ง “มนุษย์ซอมบี้” ที่ผมนำเสนอผู้อ่านอาจมองว่า เป็นการกีดกันซอมบี้รูปแบบหนึ่ง (Zombieism) ผมต้องขออภัย “ซอมบี้” มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น