You can replace this text by going to "Layout" and then "Edit HTML" section. A welcome message will look lovely here.
RSS

วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ก้าวต่อไปในการต่อสู้

ก้าวต่อไปในการต่อสู้

เราขอสดุดีผู้กล้าหาญทุกคนที่ออกมาต่อต้านรัฐประหาร การต่อสู้รอบนี้คงใช้เวลา แต่เราต้องสู้อย่างต่อเนื่องด้วยวิธีการต่างๆ ที่หลากหลาย ที่สำคัญคือต้องพยายามขยายกระแส ไปสู่ทุกภาคส่วน ต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน



     แต่เราต้องฉลาดในการต่อสู้ ต้องเข้าใจยุทธวธีที่มีประสิทธิภาพ เพราะแค่การใช้ “อารมณ์” คงอยู่ได้ไม่นาน
     การต่อสู้แบบนำตนเอง นัดเอง มาเอง มีความสำคัญยิ่งในสถานการณ์เฉพาะหน้าปัจจุบัน เพราะไม่หวังพึ่งแกนนำ นปช. ที่หมดสภาพในการนำนานแล้ว มันเป็นการแสดงจุดยืนนำตนเอง ไม่พึ่งทักษิณด้วย เพราะทักษิณไม่มีความคิดจะสู้แบบที่จะถอนรากถอนโคนอำนาจทหารหรืออำมาตย์เลย เขาต้องการสู้แบบกดดันให้เขาสามารถกลับมามีบทบาทเท่านั้นเอง
     อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้เราจะสู้แบบ นำตนเอง นัดเอง มาเอง ไปนานๆ ไม่ได้ มันจะค่อยๆ ลดพลังลง ดังนั้นเราต้องหาทางทำงานร่วมกันในรูปแบบองค์กร ประสานการเคลื่อนไหวและต่อสู้ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ในขณะที่คงไว้แกนนำหลากหลาย หลายหัว เพราะจะรักษาความเป็นประชาธิปไตยในองค์กร และทำให้ปราบยากขึ้น ที่สำคัญคือควรมีการนัดคุยกันระหว่างตัวแทนกลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อถกเถียงทำความเข้าใจกับภาพรวมทางการเมือง เพื่อกำหนดแนวทางการต่อสู้ ต้องเชิญกลุ่มอื่นๆ มาร่วมมากขึ้นตลอด ไม่มีการกีดกันใคร โดยมีกติกาง่ายๆ ในการประชุม เพื่อไม่ให้ใครครอบงำ
     เราต้องทำงานเป็นระบบเหมือนฝ่ายตรงข้าม ที่ทหารทำงานร่วมกับองค์กรอิสระ ศาล ม็อบนกหวีด พรรคปชป.กันเป็นอย่างดี
     เราต้องให้ความสำคัญในการเชิญกลุ่มสหภาพแรงงานแดงและสหภาพแรงงานที่รักประชาธิปไตยมาร่วม สหภาพแรงงานดังกล่าวต้องพยายามทำความเข้าใจกับสมาชิกว่าทำไมเราต้องสู้แบบ “การเมือง” กับอำนาจเผด็จการ และในอนาคน ถ้าสร้างกระแสได้ เราควรพิจารณาการนัดหยุดงาน แต่ต้องทำงานการเมืองพื้นฐานก่อนอย่างเร่งด่วน
     ในช่วงอนาคต เรามองไม่เห็นทางที่คณะรัฐประหารจะใช้ ในการแก้ปัญหาสังคม ในการลดความขัดแย้ง ตามที่เขาอ้าง มันจะแก้ได้ยังไง อันนี้เนื่องมาจากสังคมที่พัฒนาไปมาก มากเสียจนคนรุ่นใหม่ แทบจะนึกภาพไม่ออกว่าสังคมที่มีประชาธิปไตยครึ่งใบ สังคมที่มีการควบคุมสื่อ สังคมที่มีการห้ามคนมีความเห็น มันมีหน้าตาอย่างไร คนจะทนกับสภาพเช่นนี้ได้นานแค่ไหน และคนส่วนใหญ่ในประเทศไม่ได้สนับสนุนทหารและพรรคประชาธิปัตย์แต่อย่างใด อย่าให้สื่อมวลชนภายใต้ตีนทหารกล่อมให้เราหดหู่ เราต้องมีช่องทางสือแนวคิดระหว่างกันเอง การพบกันเป็นประจำเป็นสิ่งสำคัญ การใช้โซเชียลมีเดียก็สำคัญ แต่ต้องทำหลายอย่าง ไม่ใช่แค่พึ่งอินเตอร์เน็ต
     ในระยะสั้น ทหารอาจจะสร้างภาพว่าคุมสังคมได้ด้วยกระบอกปืน แต่ภายใต้ภาพหลอกลวงนี้ประชาชนโกรธแค้นและไม่ยอมรับทหาร เราอาจไปประท้วงทุกวันไม่ได้ เพราะต้องไปทำงานหรือเรียนหนังสือ แต่เราต้องมีกิจกรรมต่อเนื่อง
     ในระยะยาว ทหารจะไม่สามารถแบกความต้องการที่หนักหนาซับซ้อนของประชาชนได้ ความต้องการ ข้อเรียกร้องของทั้งฝ่ายสนับสนุนรัฐประหาร และฝ่ายคัดค้าน จะเพิ่มมากขึ้น ทั้งในมิติการเมือง เศรษฐกิจ ที่มีความขัดแย้งกันอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดทั่วไปในทุกสังคม

     และสุดท้าย เราไม่ควรลืมเพื่อน ต้องรณรงค์ให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองโดยไว ไม่ใช่ปล่อยให้ถูกลืมและเป็นเหยื่อของการเจรจา อย่างที่พรรคเพื่อไทยเคยทำ
 

มันเป็นรัฐประหารชัดๆ

มันเป็นรัฐประหารชัดๆ

สำหรับคนที่คิดว่ามันไม่ใช่รัฐประหาร หรือรัฐประหารครึ่งใบ เพราะทหารไม่ได้ฉีกรัฐธรรมนูญหรือล้มรัฐบาล อย่าลืมว่า ทหารมันเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาแต่แรกและศาลห้ามแก้ด้วย มันจะไปฉีกทำไม? และตอนนี้รัฐบาลหมดสภาพตั้งแต่รัฐประหารโดยศาล ต้องถือว่าไม่มีรัฐบาลจริง ไม่มีอะไรให้ล้ม



     สำหรับคนที่หลงเชื่อว่าทหารจะ “รักษาความสงบ” เพื่อจัดการเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตย โปรดทบทวนความคิด เพราะทหารเข้าไปยึดและปิดสื่อ ทหารเซ็นเซอร์อินเตอร์เน็ด ปิดเวป ทหารสั่งเจ้าหน้าที่รัฐให้มารายงานตัว ทหารบุกร้านหนังสือและสั่งให้เอาหนังสือการเมืองออก ครั้งก่อนที่ทหารเคยบุกร้านหนังสือหรือห้องสมุดเพื่อยึดและเผาหนังสือก็คือเหตุการณ์นองเลือด  ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ตอนนี้มีการจับคุมเสื้อแดงบางคน แต่ปล่อยให้อันธพาลม็อบสุเทพ ที่ก่อความไม่สงบแต่แรก และล้มการเลือกตั้งลอยนวล
     มีแนวโน้มสูงมาก ที่จะมีนายกแต่งตั้งเพื่อชลอการเลือกตั้งออกไป กกต. เสนอว่าอาจต้องรอสองปีก่อนเลือกตั้ง การปฏิรูปกองทัพ องค์กรอิสระ ศาล จะไม่มีทางเกิดขึ้น
     นปช จะยอมรับหรือไม่ เพื่อไทย จะยอมรับหรือไม่ ตรงนี้คิดว่ามีคำตอบแล้วคือคงยอมรับ เพราะเพื่อไทยปลิ้มกับรัฐประหาร และนปช. ก็ไปคุยกับทหาร
     คนเสื้อแดง จะยอมรับหรือไม่ ถ้าไม่ แล้วจะสู้อย่างไร  ถ้ายอม ก็คงต้องฝึก อยู่เป็นควายให้เขาเหยียบย้ำ

     แต่อย่าลืมว่าสังคมไทยมันเปลี่ยนไปแล้ว คนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการและการ "ปิดกั้นสื่อ" แบบว่านอนสอนง่ายอีกต่อไปแล้ว ประเด็นคือเขารอให้มีการนำ เพื่อปกป้องประชาธิปไตย ดังนั้นอย่ามาอ้างว่าประชาชนยอมจำนน เพื่อปกปิดการยอมจำนนของแกนนำ

วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

สังคมไทยหลังวิกฤตการเมืองรอบนี้

สังคมไทยหลังวิกฤตการเมืองรอบนี้
วัฒนะ วรรณ
วิกฤตการเมืองรอบนี้ ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำพรรคประชาธิปัตย์คนอื่นๆ รวมมือกับเครือข่ายพันธมิตรเดิม และองค์กรอิสระ มีกองทัพหนุนหลัง กับฝ่ายประชาธิปไตย ที่นำโดย นปช และพรรคเพื่อไทย ร่วมมือกับฝ่ายประชาธิปไตยอื่นๆ ยิ่งผ่านคืนวันไปนานเท่าไร ภาพของสังคมไทยยิ่งชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ


ภายใต้ ความชัดเจนเช่นว่านั้น ท้ายที่สุดแล้ว มันเป็นภาพชัดเจนแบบที่เราคิด ที่เราเห็นหรือไม่ เมื่อวิกฤตการเมืองครั้งนี้ยุติลง มีฝ่ายแพ้ ชนะ ก็คงต้องลองมาพิจารณาสร้างตัวแบบดู ว่าฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายใด ชนะ ภาพสังคมไทยหลังจากนี้จะเป็นเช่นไร ภายใต้ข้อมูลที่เราได้รับรู้กัน ณ ปัจจุบันนี้

ฝ่ายอำมาตย์ ชนะเบ็ดเสร็จ
ฝ่ายอำมาตย์ ประกอบไปด้วยใครบ้าง ท่านทั้งหลายก็พอจะทราบแล้ว แต่จะขอรวบรวมให้เห็นภาพชัดๆ อีกครั้งหนึ่ง ฝ่ายหนึ่ง ก็นำโดยอดีตทหารฝ่ายขวา ฝ่ายหนึ่งก็นำโดยผู้นำกองทัพ ฝ่ายหนึ่งก็นำโดยข้าราชการเก่า ใหม่ ฝ่ายหนึ่งก็นำโดย องค์กรยุติธรรม ฝ่ายหนึ่งก็นำโดย องค์กรอิสระ ฝ่ายหนึ่งก็นำโดย นักการเมืองประชาธิปัตย์ ฝ่ายหนึ่งก็นำโดย เทคโนแครต ฝ่ายหนึ่งก็นำโดย นักธุรกิจใหญ่น้อย ฝ่ายหนึ่งก็นำโดยฝ่ายวิชาการ ผู้บริหารสถาบันการศึกษา

ทุกหน่วย ทุกองค์กร ของฝ่ายนี้ที่กล่าวมา เราจะพบเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยง อุปถัมภ์ ค้ำชู กันมาโดยตลอด ผ่านการเข้าไปมีอำนาจในองค์กรต่างๆ เหล่านี้ ฝ่ายหนึ่งแต่งตั้ง ฝ่ายหนึ่ง สลับสับเปลี่ยนกันไปมา ทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยกระบวนการทั้งหมด ไม่เกี่ยวข้องใดๆ เลยกับประชาชนพลเมืองของรัฐ ด้วยพวกเขาคิดว่า พลเมืองของรัฐนั้น ยังไม่ฉลาดพอ ยังหลงผิดติดอยู่บ่วงกรรมของความยากจน ที่ผลักดัน ให้วุฒิภาวะในการมีส่วนร่วมของการบริหารบ้านเมือง ต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเงิน แต่ข้อกล่าวหานี้ ก็เป็นตลกร้าย เพราะแท้จริงแล้ว เครือข่ายอำมาตย์ต่างหาก ที่ตกอยู่ภายใต้ อำนาจเงิน ต่างแสวงหาอำนาจ เพื่อให้ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพื่อจะได้มีอำนาจการเมือง หมุนเป็นวงล้อเช่นนี้

เมื่อฝ่ายนี้ชนะ เบ็ดเสร็จ เด็ดขาด ก็พอจะคาดเดาได้ว่า สภาพสังคมไทย ก็คงจะเต็มไปด้วย ผู้รากมากดี ออกมาชี้ผิด ชี้ถูก บริหารประเทศ แบบพ่อปกครองลูก แบบผู้ใหญ่ปกครองผู้น้อย การพัฒนากระจุกอยู่ในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ การบริหารสาธารณะเป็นเรื่องสิ้นเปลือง การเมืองแบบแต่งตั้งกลับเขามามีอิทธิพลต่อการบริหารประเทศมากขึ้น ข้าราชการ องค์กรอิสระ เป็นกลุ่มบุคคลที่ควรกราบไหว้ คลานเข่า หาได้เสมอกันกับราษฎร์ไม่ นิยามคนจน ผู้ถูกซื้อ ผู้โง่เขลา ผู้ฟุ้งเฟ้อ ก็จะยังคงมีมนต์ขลังสะกดสังคมอยู่ต่อไป การเมืองและการพัฒนา จะถูกแช่แข็งสำหรับประเทศนี้ต่อไป ภายใต้วินัยการคลัง และแนวคิดเสรีนิยมแบบสุดขั้ว

แล้วถ้าฝ่ายประชาธิปไตย ชนะเบ็ดเสร็จบ้างละ
สังคมไทยจะมีหน้าตาอย่างไร มันคงเป็นภาพที่ใหม่มาก ในหลายๆ บริบท แต่ก็ต้องมาดูกันก่อน ว่าฝ่ายนี้ประกอบไปด้วยใครกันบ้าง ด้านหนึ่ง ก็พรรคเพื่อไทย ด้านหนึ่งก็ นปช ด้านหนึ่งก็นักวิชาการ ด้านหนึ่งก็นักกิจกรรม กลุ่มอิสระต่างๆ

แต่จะผิดหวังกันหรือไม่ ถ้าจะบอกว่า ถ้าฝ่ายนี้ชนะ สังคมก็จะเปลี่ยนไปได้ไม่มาก อาจจะย้อนกลับไปแค่วันคืนเก่าๆ ที่เรามีสิทธิเลือกตั้ง มีรัฐบาล มีกลุ่มก้อนการเมืองแบบเก่า และมีเศรษฐกิจเสรีนิยมกลไกตลาดแบบเดิมๆ แต่ก็ต้องถือว่าดีว่าอยู่ในระบอบเผด็จการของอำมาตย์ เราคงมีเสรีภาพเพิ่มขึ้นบ้าง

ด้านหนึ่ง ก็ต้องยอมรับความจริง ว่าแนวทางการต่อสู้ครั้งนี้ ถูกนำโดย นปช ที่เป็นเนื้อเดียวกันกับพรรคเพื่อไทย และพรรคเพื่อไทยในอดีต ก็เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายอำมาตย์ เพียงแต่ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย นำแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยม และแบบเคนส์ มาใช้ ควบคู่กัน อันหมายถึง การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการสร้างโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ลงไปในพื้นที่อื่นๆ นอกเขตเมืองหลวง เพื่อให้เกิดการไหลเวียนของเงินทุน เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งก็เห็นผลในรอบหลายปีที่ผ่านมา จะไม่ขอกล่าวซ้ำว่ามีอะไรบ้าง

แต่ในส่วนของแนวทางการเมืองแล้ว เพื่อไทย หรือ นปช ไม่มีความก้าวหน้าใดๆ เลย ถึงแม้ว่าอาจจะมีบางคน มีส่วนที่ก้าวหน้า อยู่บ้าง แต่สุดท้ายกระแสแนวคิดการทางการเมืองขององค์กร ก็ถูกนำโดยแนวคิดเสรีนิยมสมัยใหม่ ผสมกับอำนาจนิยมจารีตแบบเดิม

ภาพของสังคมหลังเพื่อไทยชนะ เราก็จะยังเห็นบทบาททหารออกมาครอบงำการเมืองอยู่เช่นเดิม เราก็ยังจะเห็นบทบาทเทคโนแครต และข้าราชการ มีบทบาทอยู่เช่นเดิม เราก็จะเห็นบทบาทกระบวนการยุติธรรมที่ดำรงอยู่เช่นเดิม เพราะเพื่อไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างเดิมนี้ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเดิมนี้ จึงเป็นเรื่องที่กระทบกับผลประโยชน์ อำนาจ ของคนในเพื่อไทยด้วย
ดังเราจะเห็นว่าที่ผ่านมา เพื่อไทยไม่มีทีท่าใด จะสนับสนุนอย่างแข็งขัน ให้เกิดการกระจายอำนาจ ไปสู่ท้องถิ่น ยุบเลิก การปกครองแบบภูมิภาค

ดังเราจะเห็นว่าที่ผ่าน เพื่อไทย ไม่มีการแตะต้องทหาร ที่เป็นหัวใจของโครงสร้างอำมาตย์เลยแม้แต่น้อย ทั้งการดำเนินคดี ทั้งการลดงบประมาณ และการลดอำนาจอื่นๆ

ดังเราจะเห็นว่าที่ผ่านมา เพื่อไทย ไม่มีความพยายาม ที่จะเพิ่มฐานะทางเศรษฐกิจ ให้สังคมเท่าที่ควรจะเป็น โดยการลดความมั่งคั่งของชนชั้นนำ เพื่อเอามาเพิ่มความมั่งคั่งให้สังคม ผ่านการเก็บภาษีก้าวหน้าอัตราสูงๆ จากคนรวยมากๆ ผ่านการจัดรัฐสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพและไปไกลกว่านโยบายประชานิยม

นี่ภาพคร่าวๆ ที่พอจะเดา พอจะแสดงให้ภาพ หลังจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดชนะ แต่ในความเป็นจริงการต่อสู้รอบนี้ เราจะไม่เห็นการชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อันเนื่องมาจาก องค์กรนำของทั้งสองฝ่าย มิใช่คู่ขัดแย้งกันแบบถาวร แต่เป็นเพียงคู่ขัดแย้งกันเฉพาะหน้าสั้นๆ ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมใดๆ มันก็หลีกเลี่ยงที่จะกระทบทั้งสองฝ่ายไม่ได้


ดังนั้น ตัวแปรสำคัญ ของการเปลี่ยนแปลง จึงอยู่ที่ขั้วที่สาม ขั้วก้าวหน้า ที่มิได้อยู่หรือเกี่ยวพันธ์กับโครงสร้างอำนาจเดิมของสังคมไทย จะมีพลัง มีความร่วมมือ มากน้อยแค่ไหน ที่จะผลักสังคมไปข้างหน้าได้ไกล ว่าข้อเสนอของ เพื่อไทย และ นปช ภายใต้บรรยากาศที่มวลชน ที่กำลังตื่นตัว คาดหวัง กับการเปลี่ยนแปลง ที่กำลังจะเกิดขึ้น
 

Read Comments
  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น