You can replace this text by going to "Layout" and then "Edit HTML" section. A welcome message will look lovely here.
RSS

วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2557

23 ปี ทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงาน ที่หายไป หลังต้านรัฐประหาร รสช.

"ถ้าพ่อหายไป 3 วันให้แจ้งความแสดงว่าถูกลักพาตัว และหากไม่ติดต่อมาใน 7 วัน ให้ทำใจพ่อเสียชีวิตแน่" นั่นคือคำสั่งเสียลูกเมียของทนง โพธิ์อ่าน
ทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงานแถวหน้า ถูกอุ้มฆ่าหายตัวไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2534, เขาเป็นประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานที่มีสมาชิกมากที่สุด และเป็นกรรมการสมาพันธ์แรงงานระหว่างประเทศภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิค (ICFTU)
2 ทศวรรษ หลังการตายของทนง โพธิ์อ่าน, เขาได้รับรางวัล “นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เสียชีวิต” แก่บุคคลที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2554 เนื่องในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธันวาคม 2554
ทนง โพธิ์อ่าน มีบทบาทนำในการต่อสู้เพื่อผู้ใช้แรงงาน และการต่อต้านการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. (National Peace Keeping Council - NPKC) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 นำโดย พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หัวหน้า รสช. พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก, พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ, พลเรือเอกประพัฒน์ กฤษณะจันทร์ ผู้บัญชาการทหารทหารเรือ, พลตำรวจเอกสวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจ และ พลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี โดยคณะ รสช. ให้เหตุผลในการรัฐประหารรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้ 1) พฤติการณ์การฉ้อราษฎร์บังหลวง 2) ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงข้าราชการประจำผู้ซื่อสัตย์สุจริต 3) รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา 4) การทำลายสถาบันทางทหาร 5) การบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
เพียง 3 วัน ภายหลังการรัฐประหาร, คณะ รสช.ได้ประกาศเรียกผู้นำแรงงานทั่วประเทศเข้าพบ ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2534 เพื่อชี้แจงนโยบายและเหตุผลในการยึดอำนาจ โดยพลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้ชี้แจง และในการชี้แจงครั้งนี้ พลเอกสุจินดาได้กล่าวว่า "ทุกข์ของกรรมกรถือเป็นทุกข์ของทหาร"
ในขณะที่ทนง ได้กล่าวโจมตีคำชี้แจงของพลเอกสุจินดา คราประยูร ว่า “เป็นเพียงลมปากที่ไม่อาจเชื่อถือได้”
ไม่นานนัก, คณะ รสช.ได้ใช้อำนาจในการกดกระแสการเรียกร้องสิทธิแรงงาน และกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ รสช. ด้วยการประกาศว่า จะดำเนินมาตรการแยกรัฐวิสาหกิจออกจากกฎหมายแรงงาน โดยในเดือนเมษายน 2534 มีการแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และตราพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534
ทนงได้คัดค้านมาตรการดังกล่าว เขาเห็นว่า รสช. ต้องการแยกสลายพลังขบวนการแรงงานภาคเอกชนและกับแรงงานรัฐวิสาหกิจออกจากกัน เขาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนตอบโต้ ว่า "ถ้าคณะ รสช.ยังยืนยันจะดำเนินการในเรื่องนี้ ไม่เฉพาะคนงานในสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจเท่านั้นที่จะเคลื่อนไหว แต่ผู้ใช้แรงงานทุกระดับคงคัดค้านแน่" นอกจากนี้ เขายังประณามการประกาศใช้กฎอัยการศึกว่า เป็นการปิดหูปิดตาประชาชน
ทนงได้เรียกประชุมสภาแรงงานแห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณามาตรการตอบโต้ต่อคณะ รสช.ในประเด็นการแยกรัฐวิสาหกิจออกจากกฎหมายแรงงาน ภายหลังการประชุมเขาได้แสดงทัศนะอย่างแข็งกร้าวต่อคณะ รสช.ว่า
"ทหารกำลังสร้างปัญหาให้กับกรรมกร ด้วยการยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ และออกประกาศ รสช. ฉบับที่ 54 และขอฝากเตือนถึงบิ๊กจ๊อด อย่านึกว่าเป็นใหญ่ในแผ่นดินแล้วจะทำอะไรก็ได้ ต้องฟังเสียงประชาชนบ้าง และเวลานี้ทหารทำให้กรรมกรเป็นทุกข์ ดังนั้นควรทำอะไรให้รอบคอบ วันนี้สามช่า วันหน้าอาจไม่มีแผ่นดินอยู่"
จากความเคลื่อนไหวของกรรมกร พลเอกสุจินดา คราประยูร ได้กล่าวว่า
"ถ้ามีการเคลื่อนไหวของคนงานในการคัดค้านการยุบเลิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ สภา รสช.มีมาตรการอยู่แล้ว แต่บอกไม่ได้ว่าจะทำอะไรเรามีแผนตลอด "
เมื่อรัฐบาลประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก มีข่าวการชุมนุมใหญ่ของกรรมกรในตอนค่ำ คณะ รสช.มีคำสั่งให้ทหารทุกหน่วยเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ
นายทนง ประกาศว่าจะจัดชุมนุมที่ท้องสนามหลวง ในวันที่ 12กรกฎาคม 2534 เพื่อคัดค้านคำสั่ง รสช.ที่ยุบเลิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจและคำสั่งฉบับที่ 54 ที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกรรมกรภาคเอกชน ห้ามบุคคลภายนอกเป็นที่ปรึกษาให้สหภาพแรงงาน
ด้วยความที่ทนง เป็นผู้นำแรงงานที่ได้รับการยอมรับทั้งภายในและระหว่างประเทศเป็นกรรมการสมาพันธ์แรงงานระหว่างประเทศภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค (ICFTU) การเคลื่อนไหวของทนงจึงได้รับการตอบรับจากขบวนการแรงงานสากลอย่างกว้างขวาง ในบทบาทฐานะที่ทนงเป็นตัวเชื่อมระหว่างขบวนการแรงงานไทยกับขบวนการแรงงานสากล ทำให้ทนงถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ พลเอกสุจินดา คราประยูร รองประธานสภา รสช.เคยกล่าวว่า "ผู้นำแรงงานบางคนตัวเป็นไทย แต่ชอบทำตัวเป็นทาส เป็นผู้ชักศึกเข้าบ้าน”
ซึ่งทนงก็ตอบโต้พลเอกสุจินดาว่า “ในฐานะกรรมกรและเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก การหนุนช่วยทางสากลนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา หากจะไม่ให้ต่างชาติเข้ามายุ่งเกี่ยวก็ทำเสียให้ถูกต้อง”
ต่อมา นายทนง โพธ์อ่าน จะได้เป็นผู้แทนคนงานไทยไปประชุมองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ( International Labour Organization :ILO) ที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในระหว่างวันที่ 3 -27 มิถุนายน 2534
เขาประกาศว่า จะนำเรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพคนงานไทยไปกล่าวในที่ประชุม ทำให้กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งห้ามมิให้ทนง เดินทางไปร่วมประชุม เพราะเกรงว่าจะนำเรื่องการยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจและประกาศ รสช. ฉบับที่ 54 ไปประณามกลางที่ประชุม ทนงจึงร้องเรียนไปยัง ICFTU และทาง ICFTU ได้ให้การสนับสนุนอย่างแข็งขัน จนองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ได้ยืนยันให้ทนง โพธิ์อ่าน เดินทางไปในวันที่ 20 มิถุนายน 2534
และแล้ววันที่ 19 มิถุนายน 2534 เขาหายตัวไปอย่างลึกลับ หลังจากที่ได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 จ.-6611 กทม. ออกจากบ้าน โดยรถถูกจอดทิ้งไว้กับทางเท้าหน้าสหภาพฯขนส่งสินค้าออก ท้ายรถโผล่ออกมาและไม่ได้ล็อกรถไว้ !!!

เรียบเรียงจาก :
15 ปี การหายไปของ "ทนง โพธิอ่าน" : คนกล้าของขบวนการแรงงานไทย
พลิกแฟ้มลับ คดี “ ทนง โพธิ์อ่าน ”เหยื่อเผด็จการทหาร รสช. วิษณุ บุญมารัตน์ นสพ.โลกวันนี้ 30 พ.ย. 2549

Read Comments
  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น