You can replace this text by going to "Layout" and then "Edit HTML" section. A welcome message will look lovely here.
RSS

วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2557

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : ทหารปฏิวัติทำไม? (อายุต่ำกว่า 40 ปีไม่ควรอ่าน)

ต้องขอย้ำว่าผู้อ่านที่อายุต่ำกว่า 40 ปีไม่ควรอ่านเป็นอย่างยิ่ง เพราะผมกำลังพูดถึงหนังสือเก่าเล่มหนึ่ง ที่ผมมักจะหยิบขึ้นมาอ่านเสมอๆ นับตั้งแต่สมัยเรียนรัฐศาสตร์ระดับปริญญาตรี เมื่อ 2531 และจากนั้นจนถึงวันนี้ก็จัดเป็นหนังสือที่อยู่ในชั้นหนังสือที่มองเห็นกันอยู่ตลอดๆ

ผมพูดถึงหนังสือชื่อ"ทหารปฏิวัติทำไม?"ซึ่งหน้าปกอธิบายว่าเป็น "บันทึกของ ทหารเด็ก" ขณะที่ในปกในด้านขวา มีอีกชื่อหนึ่งว่า "บทบาทของกองทัพแห่งชาติ ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง" พิมพ์ที่โรงเรียนช่างพิมพ์เพชรรัตน์ เมื่อปี 2520

นั่นแหละครับจึงเป็นที่มาว่าสำหรับคนที่อายุต่ำกว่า 40 ปี อาจจะไม่เข้าใจถึงเงื่อนไขบริบทของงานเขียนชิ้นนี้ได้ เพราะเขาไม่ได้พูดถึงการ "รักษาความสงบ" หรือ "การควบคุมการปกครอง" เหมือนสมัยนี้

มาว่ากันต่อดีกว่าครับ ขออนุญาตนำเสนอเรื่องน่าสังเกตอีกสักเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือ ในปกในด้านซ้าย มีการโปรยประโยคน่าสนใจไว้หลายประโยค ที่จะขอนำมาถ่ายทอดให้เห็นกัน

"... แรงดันในจิตใจของนายทหารแห่งกองทัพไทยผู้หนึ่ง ซึ่งสุดแสนที่จะทนทานต่อคำถามต่างๆ ที่ประดังกันขึ้นมา ... ท่ามกลางเหตุการณ์ผันผวนทางการเมือง ที่นำสถาบันทหาร ... สถาบันที่เขารัก และอุทิศชีวิตเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง แม้ว่าอาจจะเป็นเพียงส่วนที่เป็นกระพี้ แต่เขาก็เต็มใจที่จะยึดมั่นเป็นอาชีพไปโดยตลอด ... เข้าไปเกี่ยวพันกับการเมืองมากขึ้นทุกที อย่างปราศจากทิศทาง และอย่างไม่อาจกำหนดอนาคตได้

แรงกดดันอันนั้น ... ทำให้เขาต้องหยิบปากกาขึ้น ... เขียนมันลงไป ... เขียนทั้งๆ ที่รู้ว่า กระพี้อย่างเขาด้อยทั้งประสบการณ์ในการเขียน และภูมิหลังทางการเมือง อันจะได้อาศัยกลั่นกรองออกมาเป็นตัวอักษร หากแต่เขียนมันออกมาจากหัวใจ จากความรู้สึก ที่ไร้มารยา

... อภัยเขาด้วย ถ้าไม่สบอารมณ์"
บริบทที่สำคัญสำหรับงานเขียน "ทหารปฏิวัติทำไม?" นั้นเกิดขึ้นหลังช่วงเหตุการณ์เดือนตุลา 19 และยาวมาถึงการปฏิวัติเมื่อ 20 ตุลาคม 20 ซึ่ง "ทหารเด็ก" (ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าเขาเป็นใคร) กล่าวไว้น่าสนใจในบทนำว่า นอกเหนือจากที่ประชาชนจะเคลือบแคลงใจต่อบทบาทของทหารแล้ว กำลังพลในกองทัพเองก็ตกอยู่ในห้วงแห่งความแคลงใจในสถานภาพของทหารเองว่า บทบาทของสถาบันทหารที่พึงกระทำในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นอย่างไร จะอยู่เหนือหรืออยู่ใต้ผู้บริหารประเทศ

ทหารเด็กชี้ว่า การนำสถาบันทหารเข้าไปผูกพันกับวงการเมืองอย่างปราศจากทิศทางภายหลัง 6 ตุลา 19 ทำให้ทหารเป็นผู้ที่ยุ่งยากสับสนที่สุด เพราะไม่อาจกำหนดได้ว่าวันหนึ่งตนหรือหน่วยของตนจะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในรูปใด? ภายใต้การนำของใคร? และผลที่ได้รับจะเป็นเช่นใด? โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องรับผลเช่นเดียวกับเหตุการณ์จลาจลเมื่อวันที่ 14-16 ตุลา 2516 อันทำให้สถาบันทหารต้องหมองมัวตกต่ำลงในสายตาประชาชนหรือไม่? 
ประเด็นอีกประเด็นที่ทหารเด็กชี้ไว้อย่างน่าสนใจก็คือ เขาพยายามจะหาคำตอบว่า "เมื่อผู้นำทหารเข้าไปเป็นผู้นำทางการเมืองแล้ว มีเหตุผลอะไรที่ทำให้ต้องล้มเหลวลงในลักษณาการที่คล้ายคลึงกับคนก่อนๆ และทำความหมองมัวให้กับสถาบันทหารเป็นส่วนรวมด้วย? 

มีวิธีการใดที่ทหารจะหนีอดีตเหล่านั้นได้พ้น? 

ทำไม ... ในเมื่อสถาบันทหาร ซึ่งเป็นสถาบันที่เข้มแข็งและมีระเบียบวินัยที่สุด จึงไม่สามารถจัดระเบียบสังคมให้แก่คนในชาติ หรือแม้แต่จัดระเบียบการยุ่งเกี่ยวกับการเมืองให้กับกำลังพลของตนเองได้?"

ภายหลังจาก "คำนำ" ทหารเด็กนั้น แบ่งหนังสือ "ทหารปฏิวัติทำไม?" เอาไว้ 10 บทและต่อด้วย ปัจฉิมลิขิต โดยจะขอนำมาเล่าให้ฟังดังนี้ 

1.ทหารกับการเมือง - จุดเด่นของบทนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ทำให้เราได้คิดว่า คำถามว่าทหารนั้นควรเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่นั้นเป็นคำถามที่ตอบไม่ง่ายนัก เพราะโดยทรัพยากรและศักยภาพของทหารเองนั้นทำให้ทหารไม่อาจตั้งอยู่นอกวงการเมืองได้ แต่ทหารเองก็มักจำนนต่อเงื่อนไขความจำเป็นอีกชุดหนึ่งว่าเมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองแล้ว เขาก็อาจเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ หรือไปเสริมให้กลุ่มบางกลุ่มในความขัดแย้งนั้นได้เปรียบ หรือได้ชัยชนะ ในขณะเดียวกันทหารเองแม้จะมีความมุ่งหวังที่ดีก็อาจไม่มีความรู้ความสามารถพอในการขับเคลื่อนประเทศ

ดังนั้นทหารเด็กจึงตั้งคำถามที่ทหารเองนั้นพยายามตอบ(อย่างน้อยตั้งแต่ 2520) ก็คือทหารจะเข้าไปมีบทบาททางการเมืองแค่ไหน และในอีกด้านหนึ่งที่สำคัญก็คือ การจะเข้าไปมีบทบาททางการเมืองแค่ไหนก็ย่อมเกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์กับรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งด้วย

โดยเฉพาะภาษิตของกวีชาวโรมันJuvenal ที่ทหารเด็กยกมา "Who is to guard the guards themselves?" หรือที่ทหารเด็กแปลว่า "มีทางใดที่จะทำให้กองทัพ สถาบันอันทรงอำนาจสถาบันนี้ไม่แสดงพลังในการทำลายระบอบประชาธิปไตยอยู่ตลอดเวลาได้?" 

2.ท่าทีของนักการเมืองต่อสถาบันทหาร - ทหารเด็กชี้ว่า หากไม่มีการปฏิรูปทางด้านการเมืองอย่างถูกวิธี และการยอมรับอำนาจทางการเมืองของพลเรือนโดยฝ่ายทหารเองผ่านการปฏิรูปการเมืองแล้ว ก็ยากที่ทหารจะยอมรับนักการเมืองและประชาธิปไตย ยิ่งรัฐบาลพลเรือนหยิบยื่นประโยชน์ให้กับทหารเป็นกลุ่มเป็นฝ่าย ก็จะยิ่งทำให้เกิดความร้าวลึกในหมู่ทหาร และสุดท้ายผู้นำพลเรือนก็จะไม่อาจควบคุมภาวะดุลแห่งอำนาจในวงการทหารไว้ได้อีกต่อไป 

พูดง่ายๆ ในมุมของทหารเด็กนั้น รัฐบาลพลเรือนอย่าเอาทหาร หรือผู้นำทหารมาเป็นพวก แต่ต้องเน้นให้ทหารทั้งหมดนั้นยอมรับต่างหาก 

ในอีกด้านหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือนนั้นไม่ควรแยกกันในระบบการศึกษา ทหารนั้นควรจะศึกษาเรื่องราวความรู้ของพลเรือนไปพร้อมๆ กัน คือให้มาเรียนนอกโรงเรียนทหารมากขึ้น และทำให้เรื่องความรู้ทางการเมืองของทหารเป็นเรื่อง "ทางทฤษฎี" ไม่ใช่ทหารนั้นอ้างว่าตนมีความรู้ทางการเมือง ในความหมายของการมีความรู้ในแง่การเคลื่อนไหวของกลุ่มคู่ต่อสู้ทางการเมืองของตนเท่านั้น และในอีกด้านหนึ่งพลเรือนก็ควรจะฟังความเห็นของทหารด้วย ไม่ใช่มองว่าทหารมีหน้าที่ใช้กำลังหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญการใช้กำลังเท่านั้น การพูดคุยแลกเปลี่ยนในเรื่องนี้จะทำให้ทหารมีความรู้ทางการเมืองมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดคำกล่าวที่ว่า "ไม่มีสถาบันทางการเมืองสถาบันใดที่มีอำนาจมาก แต่ขาดความรู้ทางการเมืองเท่ากับทหาร"

3.การเข้าแทรกแซงทางการเมือง - ทหารเด็กชี้ว่ารูปแบบการแทรกแซงทางการเมืองของทหารมีตั้งแต่ระดับการใช้อิทธิพลทางการเมือง ไปจนถึงการเข้าควบคุมการเมืองโดยตรง แต่เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เกิดการปกครองโดยพลเรือน และมีการจัดความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างทหารกับพลเรือน (ไม่ใช่มองแค่ว่าทหารนั้นไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมืองแบบไม่เข้าใจการเมือง และพลเรือนก็ใช้ทหารเป็นเครื่องมือในการแสวงหาอำนาจ) นั้นมีอยู่สี่เรื่องคือ ก. ลักษณะและระดับของความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน ข. ความเข้มแข็งของสถาบันทางการเมืองของพลเรือน ค. ความเข้มแข็งของสถาบันทหาร และ ง. ลักษณะของเส้นกั้นรอบตัวของสถาบันทหาร

นั่นหมายความว่า เราต้องเข้าใจว่าการแทรกแซงของทหารต่อการเมืองนั้นมันจะมีผลได้ในหลายรูปแบบ และความจริงใจหรือผลประโยชน์ของทหารต่อการเมืองนั้นก็ไม่ใช่เงื่อนไขเดียวที่จะทำให้เกิดผลไปตามที่ทหารต้องการทหารอาจหวังดีแต่เงื่อนไขไม่เอื้อ หรือทหารอาจหวังร้ายและเห็นแก่ตัว แต่เงื่อนไขก็ไม่เอื้อเหมือนกัน 

แต่ทั้งนี้ผมเห็นว่าทหารเด็กพยายามจะชี้ว่าทหารเองต้องมีความรู้ทางการเมืองด้วย ไม่ใช่เน้นแต่ความหวังดีและจริงใจ ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นจากคนในที่สำคัญ ที่ไม่ได้มองทหารในแง่ลบแบบไร้เหตุไร้ผลเสียทีเดียว

4.เงื่อนไขภายในของสถาบันทหารอันก่อให้เกิดการแทรกแซงทางการเมือง-ทหารเด็กแบ่งองค์ประกอบในความเข้าใจในเรื่องนี้เป็น สองส่วนคือ "สภาวะแวดล้อมต่อกองทัพ" (ประกอบด้วย ก. ลักษณะและขอบเขตของการตื่นตัวทางการเมืองในสังคม ข. การแยกตัวของกองทัพต่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงหมุนเวียนของการเมืองและสังคม ค. ขีดขนาดที่กองทัพจะให้การสนับสนุนโดยตรงแก่รัฐบาล และ ง. รัฐบาลสามารถเอาชนะจิตใจของประชาชนได้เพียงใด)

ขณะที่ "องค์ประกอบภายใน" ของกองทัพ ก็มีความสำคัญ ซึ่งได้แก่ ก. ภารกิจของกองทัพ ข. ความตื่นตัวทางการเมืองของทหาร ค. ความสามัคคีกลมเกลียวในหมู่ทหาร ง. ความสามารถทางเทคนิคของทหาร จ. ลักษณะและขอบเขตของการเป็นทหารอาชีพ และ ฉ. ค่านิยมของทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่านิยมทางประชาธิปไตยในอันที่จะยอมเป็นหน่วยรองของรัฐบาลพลเรือน

จุดเด่นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือทหารเด็กชี้ว่าทหารนั้นจะยอมรับรัฐบาลพลเรือนก็ต่อเมื่อรัฐบาลพลเรือนนั้นเป็นที่ยอมรับของประชาชนในแบบที่รัฐบาลพลเรือนนั้นผ่านการพัฒนาทางการเมืองด้วย (ว่าง่ายๆ ไม่ใช่แค่เลือกตั้งมา) และเมื่อนั้นทหารก็จะยอมรับความเหนือกว่าของรัฐบาลพลเรือนอย่างเต็มใจ ไม่ใช่ยอมรับแบบที่ว่ารัฐบาลพลเรือนนั้นใช้ทหารไปคุมมวลชนแทนตำรวจ เพราะรัฐบาลอาจจะมองว่าใช้ทหารได้ และสั่งทหารได้ แต่ทหารจะเกิดความตื่นตัวทางการเมือง และเริ่มสับสนว่าตกลงทหารมีไว้เพื่อสนับสนุนรัฐบาล หรือเพื่อประโยชน์ของชาติกันแน่ และถ้าทหารไม่ได้รู้เรื่องการเมืองแล้ว หรือรู้แค่ว่าตนนั้นไม่ถูกกับใครบ้างแล้วคิดว่านั่นคือการเมือง การแทรกแซงของทหารในการเมืองก็จะตามมา 

หรือถ้าทหารหมกมุ่นกับการป้องกันประเทศ หรือป้องกันภัยอันตรายมาก เขาก็อยากยุ่งกับการเมืองได้เช่นกัน เพราะคิดว่าคนอื่นไม่ฟังเขา และทำให้ต้องการมีอำนาจการเมืองเพื่อกำจัด "ภัยเหล่านั้น" 

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ทหารเด็กชี้ว่าการรักษาเส่นกันระหว่างสถาบันทหารกับสถาบันอื่นๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ และมีผลต่อการที่ทหารนั้นจะถอยออกมาจากการเมืองได้ไหม เพราะว่าแม้ทหารจะทุ่มเทในการแก้ปัญหาเพียงใดในช่วงที่เขาครองอำนาจทางการเมือง การตัดสินใจทางการเมืองย่อมมีได้มีเสีย ดังนั้น กลุ่มที่ได้หรือเสียก็จะพยายามแหวกเส้นกั้นนั้นเข้ามาเชื่อมโยงกับทหาร และทำให้ทหารนั้นแตกแยกกันและมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ดี 

5.สิ่งแวดล้อมภายนอกที่ทำให้ทหารเข้าแทรกแซงทางการเมือง - จะขอยกบางประเด็นขึ้นมาพิจารณา โดยทหารเด็กชี้ว่าความขัดแย้งทางสังคมนั้นมีทั้งในแบบที่กลุ่มต่างๆ ขัดแย้งกันในเรื่องผลประโยชน์ และพยายามทำลายเส้นกั้นกับทหาร โดยดึงทหารไปเป็นพวก หรือสร้างสภาวการณ์ให้ทหารต้องเข้ามาแทรกแซง หรือความขัดแย้งนั้นอาจไปไกลมากกว่าเรื่องของความขัดแย้งระหว่างกลุ่มมาเป็นความขัดแย้งในระดับโครงสร้างของชนชั้นหรือความไม่ยุติธรรม

ที่สำคัญตอนหนึ่งทหารเด็กชี้ว่าหากพลเรือนยังขัดแย้งกันเองในเรื่องกฎเกณฑ์การปกครอง (Rule of the Game) แล้ว และยังไม่มีสถาบันการเมืองที่เข้มแข็งสนับสนุนเต็มที่ในลักษณะที่สามารถขจัดช่องว่างของการยอมรับทางกฎหมาย(legitimacyvacuums) ก็จะเกิดความทะเยอทะยานขึ้นทั่วไปในหมู่นายทหารของกองทัพที่จะเข้าแก้ปัญหาการเมืองทั้งมวลด้วยกำลัง หรือมีการวิ่งเข้าหาทหาร ทหารเด็กย้ำอีกทีว่ายิ่งเกิดปัญหารัฐบาลพลเรือนจะต้องวิ่งหาประชาชน ไม่ใช่วิ่งหากองทัพ เพราะเมื่อวิ่งเข้าหากองทัพ กองทัพจะแตกแยก และจะตื่นตัว และยิ่งเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง

6.ผลของการมีรัฐบาลทหาร - ทหารเด็กชี้ว่าเมื่อทหารเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองแล้ว ทหารก็จะเผชิญกับการที่จะต้องสร้างความมั่นคงทางการเมือง ความสงบเรียบร้อยของประชาชน และการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ต้องการกองทัพที่มีขีดความสามารถในทางการเมืองอย่างสูงในการเข้าแก้ปัญหา เพราะจะต้องสร้างชาติและเสถียรภาพให้กองทัพไปพร้อมๆ กัน และเมื่อมีเรื่องของการต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยกับกองทัพ และกองทัพก็พยายามจะสร้างความสงบ การพัฒนาเศรษฐกิจจะถูกผลักให้เป็นเรื่องรอง เนื่องจากต้องไปจัดการกับความวุ่นวายต่างๆ ในที่สุดรัฐบาลทหารก็จะเข้าไปติดอยู่ในปมเชือกที่ต้นต้องการเข้าไปแก้เอง

และสุดท้ายทหารก็จะต้องพยายามถอยออกจากการเมือง เพราะเอกภาพของกองทัพก็สำคัญ ยิ่งถลำลึกไปในการเมือง เอกภาพและความเชี่ยวชาญในการทำงานของตนก็จะลดลง

7.แบบต่างๆ ของรัฐบาลทหาร - การแทรกแซงทางการเมืองของทหารนั้นได้พัฒนาเสียจนมีการศึกษารูปแบบได้หลายแบบ อาจจะแบ่งคร่าวๆ ออกเป็น "ผู้ปกครอง" คือยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ หรือ "นักปฏิรูป" คือ พยายามทำเองด้วยทิศทางที่ตนกำหนด

แต่แบบที่เป็นที่นิยมก็คือการทำตนเป็น "ผู้พิทักษ์" คือไม่เข้าข้างใคร แต่ยึดเอาอุดมการณ์ของชาติเป็นที่ตั้ง แต่การทำตนเป็นผู้พิทักษ์ก็ไม่ใช่หลักประกันที่จะทำให้การพัฒนาทางการเมืองบรรลุผลเสมอไป เพราะการเป็นผู้พิทักษ์นั้นไม่สามารถบอกได้ว่าตนเห็นด้วยกับกลุ่มไหน และจะต้องปราบปรามทุกกลุ่ม ทหารผู้พิทักษ์นี้มักจะได้รับการต้อนรับจากประชาชนในตอนต้น เพราะแสดงความเด็ดเดี่ยวแบบผู้นำทหาร แต่ถ้าไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งในสังคมที่พอกพูนขึ้นก็อาจจะจบไม่สวย เพราะการแทรกแซงทางการเมืองนั้นคือการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางสังคม ไม่ใช่ยิ่งอยู่ไปยิ่งกลายเป็นไปทะเลาะกับคนที่เห็นต่างกับตนเสียเอง 

8.นักปฏิรูปในเครื่องแบบทหาร - บทนี้เป็นบทที่น่าสนใจ เพราะทหารเด็กชี้ว่าชนชั้นกลางคือทางออกสำหรับการปฏิรูป และชนชั้นกลางนี้ต้องหมายถึงการเข้าใจโครงสร้างของทหารด้วย โดยเฉพาะทหารในระดับคุมกำลัง หรือระดับนายพัน จะต้องมีทรรศนะไปในแบบเดียวกับชนชั้นกลาง ไม่ใช่การพูดถึงการเปลี่ยนแปลงด้วยกำลังทหารด้วยทหารแก่ แต่ต้องเป็นทหารหนุ่ม ที่จะกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่เป็นคุณกับประชาธิปไตย และจะต้องลดช่องว่างทางเศรษฐกิจอย่างเอาจริงเอาจัง ไม่ใช่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศด้านเดียว 

ดังนั้น การรวมตัวกับชนชั้นกลางในการขับเคลื่อนการปฏิรูปนั้นจะต้องเกิดขึ้น และลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำไปพร้อมๆ กัน 

แต่เรื่องนี้คงต้องตั้งคำถามว่าในวันนี้เราจะมองว่าชนชั้นกลางอยู่แต่ในเมืองแบบเดิมหรือไม่? เพราะมีงานวิจัยว่าในต่างจังหวัดนั้นคนจำนวนมากก็เป็นคนชั้นกลางไปแล้วเช่นกัน?

9.การต่อสู้สงครามปฏิวัติด้วยการปฏิรูป-ทหารเด็กชี้ว่าการปฏิรูปยากกว่าการปฏิวัติ และการรักษาดุลแห่งการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่ และจะต้องแสวงหาจุดร่วมและสงวนจุดต่าง โดยไม่สร้างศัตรูหลายด้านมาพร้อมกัน และจะต้องยืนหยัดในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความเสมอภาค ไม่ใช่เรียกร้องแต่สามัคคีแต่ไม่สร้างความเสมอภาค 

10.บทสรุป - ทหารเด็กชี้ว่า "การเข้ายึดอำนาจของทหารในประเทศที่กำลังพัฒนานั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากนัก ... แต่การที่ทหารจะคืนอำนาจให้แก่พลเรือน จะมอบประชาธิปไตยให้แก่ประชาชน และจะถอนตัวกลับเข้ากรมกองอย่างมีเกียรติ ทำหน้าที่พิทักษ์ความมั่นคงแห่งชาติตามภาระหน้าที่นั้น มิใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายดายนัก เพราะประชาชนต้องการประชาธิปไตยที่ดีกว่าประชาธิปไตยที่เขามี ต้องการสภาพแวดล้อมของสังคมที่ดีกว่าก่อนที่ทหารจะเข้ายึดอำนาจ

ไม่เช่นนั้น ประชาชนจะถามว่า "ทหาร - ปฏิวัติทำไม?"


.........



(ที่มา:มติชนรายวัน3มิ.ย. 2557)

Read Comments
  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น