You can replace this text by going to "Layout" and then "Edit HTML" section. A welcome message will look lovely here.
RSS

วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2557

โต้แย้งวรนัย วาณิชกะในบทความ Absolutism is fashionable

 เท่าที่ได้อ่านหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์มานานหลายปี โดยเฉพาะยุคหลังการทำรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม ผู้เขียนรู้สึกได้เลยว่าคอลัมนิสต์หลายคนของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้จะเก่งกาจในการเขียนสนับสนุนกองทัพในรูปแบบที่ประณีตและละเอียดอ่อน อ่านผิวเผินเหมือนกับเป็นกลาง เปิดกว้าง แต่มองให้ลึกจะพบว่าประโยคกำกวมและเต็มไปด้วยการลักไก่  ดังบทความของวรนัย วาณิชกะ ที่เขียนบทความชื่อ Absolutism is fashionable  ในวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา 
ผู้เขียนจะขอหยิบยกบทความชิ้นนี้มาเพื่อโต้แย้งหรือไม่เห็นด้วยดังต่อไปนี้
ชื่อของบทความน่าจะแปลได้ห้วนๆ ว่า “เผด็จการยังทันสมัยอยู่ “ สำหรับคำว่า “เผด็จการ” นั้นผู้เขียนสงสัยอยู่เหมือนกันว่าวรนัยนั้นเหตุใดจึงเลือกใช้คำว่า absolutism แทน dictatorship ซึ่งเป็นคำที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายมากกว่า แต่พอจะเดาว่าคือคนเขียนตั้งใจจะเขียนเชลียร์ คสช.โดยเฉพาะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาแต่ในขณะเดียวกันเขาไม่อยากจะทำให้คนอ่านที่คุ้นเคยกับคำว่า dictator รู้สึกกับบทความของเขาในด้านลบทันทีจึงเลี่ยงไปใช้คำว่า absolutism  แทน ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาอย่างมากเพราะผู้เขียนลองไปหาความหมายของคำนี้ในดิกชันนารีแม็กซิมิลันซึ่งให้คำนิยามต่อ absolutism ดังต่อไปนี้
A system of government in which one leader has complete power and authority over a country and its citizens
ระบบการปกครองซึ่งผู้นำ "เพียงคนเดียว" มีอำนาจและพลังอันชอบธรรมเหนือประเทศและพลเมืองของประเทศนั้น
Absolute ruler ในที่นี้จึงอาจหมายถึงกษัตริย์หรือในภายหลังยังขยายไปยังสามัญชนก็ได้     กระนั้นเองในช่วงต้นๆ คำว่า absolutism ถูกนำมาใช้กับกษัตริย์ในยุคแห่งการรู้แจ้ง หรือ Enlightened Absolutism ซึ่งกษัตริย์ซึ่งได้รับสมญาเช่นนี้นอกจากจะมีอำนาจสูงสุดและเด็ดขาดแล้วยังรับเอาแนวคิดแห่งการรู้แจ้งในการปกครองประเทศ เช่นนอกจากจะปกครองประเทศด้วยความสามารถและความเป็นธรรมเปิดเสรีภาพให้กับสื่อและประชาชน สนับสนุนการศึกษา  กษัตริย์เช่นนี้ยังสร้างความเจริญและอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ให้กับประเทศเช่นสนับสนุนงานศิลปะ  สถาปัตย์ ต่างๆ ดังเช่นพระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 3 แห่งสเปน  พระนางแคทอรีนที่ 2 แห่งรัสเซีย พระเจ้ากุสตาฟที่ 3 แห่งสวีเดน ในศตวรรษที่ 18  (เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าในท้ายบทความวรนัยพยายามแนะนำประยุทธ์ว่าให้เป็นเช่นนั้นเช่นยอมรับสิทธิและเสรีภาพของคนไทยบ้าง แต่ก่อนหน้านี้เขาได้เชิดชูประยุทธ์อย่างเลิศหรูจนทำให้คนอ่านเชื่อว่าท่านผู้นำจะต้องมีพฤติกรรมเช่นนี้แน่นอน  ซึ่งความจริงตอนนี้เป็นอย่างไร ก็ขอให้ผู้อ่านตัดสินเอาเอง )
วรนัยพยายามจะบอกว่า
After all, through some 7,000 years of human civilisations, absolute rule has been the main driver of societies, with very few exceptions here and there.
ไม่ว่าอย่างไรแล้ว  ตลอดเวลา 7,000 ปีของอารยธรรมมนุษย์ การปกครองแบบคนเดียวมีอำนาจสูงสุดได้กลายเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของสังคม ด้วยข้อยกเว้นอยู่โน้นนี่บ้างเพียงเล็กน้อย
ปัญหาก็คือหากเราให้คำนิยามว่ามีผู้ปกครองคนเดียวนั้นจะทำให้วรนัยนำคำว่า absolutism หรือ absolute rule มาใช้อย่างผิดๆ ทันที เพราะตลอดเวลาหลายพันปีที่ผ่านมานั้น การปกครองแบบเผด็จการไม่ได้อยู่ในรูปแบบกษัตริย์หรือบุคคลมีอำนาจเพียงผู้เดียวดังเช่น Enlightened Absolutism  เสมอไปเช่นอดีตของอาณาจักรอีกจำนวนมากที่ไม่ได้มีการปกครองที่คนเดียวมีอำนาจเด็ดขาดดังเช่นการปกครองแบบอภิชนาธิปไตย (Aristocracy) หรือกลุ่มบุคคลซึ่งมีคุณภาพที่ปกครองเพื่อประชาชนเช่นการปกครองโดยกษัตริย์และสภาเจ้าชายของแคว้นต่างๆ สมัยพุทธกาล หรือสมัยโรมันในบางยุคที่มีสภาขุนนางที่เลือกตั้งผู้นำของอาณาจักร หรือประชาธิปไตยโดยตรง (Direct Democracy) ในอาณาจักรต่างๆ ของกรีก การปกครองแบบคณาธิปไตย (oligarchy) หรือ       กลุ่มบุคคลที่ปกครองรัฐเพื่อตัวเองดังเช่นพรรคคอมมิวนิสต์หรือกลุ่มเผด็จการทหารในประเทศโลกที่ 3 หรืออีกมากมายที่ประวัติศาสตร์กระแสหลักอาจจะไม่ได้กล่าวถึงอีกมากมาย
แม้แต่การปกครองที่คนๆ เดียวมีอำนาจก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีอำนาจอย่างเด็ดขาดอย่าง absolutism เสมอไปดังเช่นในประเทศตะวันตกหลายประเทศโดยเฉพาะอังกฤษจะพบว่ากษัตริย์มีพระราชอำนาจจำกัดนับตั้งแต่พระเจ้าจอห์นถูกขุนนางบีบบังคับให้ลงพระนามในสัญญาแม็คนาคาร์ตาปี 1215  กษัตริย์อังกฤษมีอำนาจอยู่ภายใต้สัญญาและยังถูกคานอำนาจโดยรัฐสภาที่ประกอบด้วยขุนนาง เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ของการเมืองไทยเอง หากศึกษาดู เราจะเห็นได้ว่าพระมหากษัตริย์ในอดีตนั้นยังอยูห่างจากคำว่า absolutism มากเพราะอำนาจอย่างมหาศาลนั้นอยู่ที่ขุนนางเพราะมีกำลังไพร่พลสังกัดอยู่กับตนเป็นจำนวนมากดังที่เราเรียกว่าระบบศักดินาจึงมีอิทธิพลในการขับเคลื่อนประเทศยิ่งกว่ากษัตริย์เสียอีก ตัวอย่างเช่นขุนนางตระกูลบุนนาคในสมัยรัชกาลที่ 3 และ 4  จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ทรงให้มีการเลิกทาสและไพร่เพื่อรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางจึงจะได้เรียกว่า absolutism หรือระบอบ     สมบูรณาญาสิทธิราช
ผู้เขียนคิดว่าการปกครองที่ไม่ใช่ absolutism มีจำนวนมหาศาลกว่า  “ด้วยข้อยกเว้นอยู่โน้นนี่บ้างเพียงเล็กน้อย” ตามความคิดของวรนัยนัก
นอกจากนี้วรนัยพยายามจะผูกคำว่าสังคมหรืออารยธรรมเข้ากับรัฐจนเกินไปเลยลืมมองข้ามบทบาทของชุมชนที่อยู่นอกเหนือขอบเขตของอำนาจรัฐไม่ว่าอยู่ภายในประตูเมืองเช่นตลาดหรือซ่องหรือพื้นที่นอกประตูเมืองที่ชุมชนเล็ก ๆ ต่างๆ ซึ่งมีการปกครองประชาธิปไตยแบบโบราณ (เช่นมีการเลือกผู้นำชุมชน มีการประชุมพบปะกันระหว่างผู้นำกับสมาชิกชุมชน) ซึ่งได้สร้างสรรค์สังคมหรืออารยธรรมเป็นจำนวนมากยิ่งเสียกว่ากำแพงเมืองจีนหรือหอคอยเมืองปีซาหรือนครปารีสอันยิ่งใหญ่สวยงาม ดังนั้นถ้าจะเขียนให้รัดกุมกว่านี้คือควรจะบอกว่า   absolute rule has been one of  the main drivers of societies
วรนัยยังกล่าวต่อจากนั้นอีกว่า
It wasn’t but in the past century that democracy became en vogue.
แต่ก็ต้องเป็นศตวรรษที่ผ่านมา ประชาธิปไตยจึงจะ "เป็นที่นิยม"
ตามความคิดของผู้เขียน วรนัยพยายามลักไก่โดยใช้ภาษาฝรั่งเศสเพื่อให้ประโยคดูไม่จริงจังนักคือ en vogue  อันแปลว่า "เป็นที่นิยม" หรือ "ทันสมัย" ลองเดาเล่นๆ จากการเลือกใช้คำนี้ว่านอกจากจะเลี่ยงไม่ให้ fashionable มีในบทความมากไปแล้วอาจจะสะท้อนจิตใจลึกๆ ของ  วรนัยว่าเขาไม่มั่นใจในบทความที่เขาเขียนเท่าไรนัก เป็นเรื่องจริงที่ว่าประเทศต่างๆ ในโลกเริ่มหันมาเป็นประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 20 โดยตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ผู้เขียนเห็นว่าข้อเขียนของวรนัยพยายามจะ misleading หรือชักจูงให้ผู้อ่านเข้าใจผิดว่า ประชาธิปไตยนั้นค่อนข้างลอยๆ ไม่มีที่มาที่ไปเหมือนแฟชั่นที่จู่ๆ ก็ได้รับความนิยมและจู่ๆ ก็หายไป แทนที่จะกล่าวว่าประชาธิปไตยนั้นเกิดขึ้นในกระแสของการจรรโลงประชาธิปไตยหรือ democratization ที่มีพัฒนาการทางความคิดถ้าเป็นในยุโรปก็มาจากยุคแห่งการรู้แจ้ง ที่สำคัญประชาธิปไตยยังเป็นผลผลิตจากการต่อสู้ระหว่างกลุ่มทางสังคมหรือประชาชนมาหลายศตวรรษไม่เช่นนั้นแล้วเราจะสามารถอธิบายการปฏิวัติอเมริกันและการปฏิวัติฝรั่งเศส หรือคลื่นกระแสปฏิวัติในยุโรปปี 1848 ได้อย่างไร 
จริงอยู่แม้ว่านักรัฐศาสตร์ไม่สามารถทำนายกระแสประชาธิปไตยหรือเผด็จการไม่ได้ว่าจะดำเนินไปอย่างไร จะถดถอยหรือก้าวหน้าเมื่อไรได้อย่างมีประสิทธิภาพนัก แต่ไม่ควรทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาแบบลอยๆ เช่นเดียวกับเผด็จการที่วรนัยต้องการจะบอกว่าเป็นเรื่องที่ซ่อนเร้นอยู่ในสังคมไทยและจู่ๆ ก็ทันสมัยขึ้นมาแทนที่จะบอกว่าเป็นผลมาจากการด้อยหรือการลดถอยประชาธิปไตยของคนไทยที่เกิดจากการปลูกฝังแบบอนุรักษ์นิยมหรือวัฒนธรรมแบบเผด็จการที่ฝังลึกในสังคมตอกย้ำด้วยการเข้ามามีอิทธิพลหรือการแทรกแซงขององค์กรหรือกลุ่มผลประโยชน์หลายกลุ่มที่ไม่ได้ยึดถืออุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างเช่นกองทัพและศาลอยู่เสมอมา แน่นอนว่าบทความนี้ย่อมไม่มีการกล่าวถึงเป็นอันขาด
วรนัยยังได้สนับสนุนแนวคิด absolutism ซ้ำว่า
Look at Western democracies, actual fascist parties contesting elections and fascist movements that are ever alive and active. Then there are those political parties that called themselves by any other, though with fascist policies all the same.
ลองดูที่ประเทศประชาธิปไตยตะวันตกสิ พรรคฟาสซิสต์ขนานแท้ได้ลงแข่งขันการเลือกตั้งและขบวนการฟาสซิสต์ซึ่งมีตัวตนและดำเนินกิจกรรมอยู่ และยังมีพรรคการเมืองซึ่งมีชื่อแบบอื่น ๆ แต่นโยบายฟาสซิสต์ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา
ความเห็นของวรนัยเช่นนี้คือการไม่เข้าใจการเมืองของยุโรปเลยว่าพรรคแบบขวาสุดขั้วของยุโรปนั้นมีอุดมการณ์อันหลากหลาย แตกต่างกัน แน่นอนว่า พรรคนาซีใหม่นั้นเป็นฟาสซิสต์ก็ต้องพยายามเน้นอุดมการณ์แบบนาซีคือยกย่องเผด็จการโดยคนๆ เดียวแบบฮิตเลอร์ ซึ่งจะถูกรัฐบาลของประเทศต่าง ๆใน ยุโรปปราบปรามและสั่งให้ยุบพรรคไปในหลายปรเทศ ส่วนประชาชนก็นิยมพรรคนี้เหล่าอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก ส่วนพรรคแบบขวาตกขอบอย่างเช่นพรรค French National Front ของฝรั่งเศส พรรค Danish People's Party ของเดนมาร์ก  พรรค UK Independence Party ของอังกฤษ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ถูกกฎหมายและสามารถเข้ามาแย่งบทบาททางการเมืองกระแสหลัก ดังเช่นเพิ่งได้รับคะแนนเสียงอย่างมากมายในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปเมื่อไม่กี่เดือนมานี้นั้นไม่ได้สุดโต่งมีนโยบายที่คล้ายกับนาซีคือต่อต้านผู้อพยพ พวกรักร่วมเพศ และสหภาพยุโรป แต่ก็ไม่ได้สุดโต่งเหมือนนาซีคือไม่ใช่ต้องการจะเปลี่ยนการปกครองของยุโรปเป็น "absolutism " หรือฟาสซิสต์ และแน่นอนว่าพรรคการเมืองเหล่านั้นย่อมมีแนวโน้มในการลดอุดมการณ์ของตนให้ค่อนกลางในอนาคตคือให้มีลักษณะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเพื่อที่จะได้เป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาลตามแบบของประชาธิปไตยซึ่งมีความหลากหลายของอุดมการณ์ย่อยภายใน อย่าหลงไปกับภาพยนตร์หลายเรื่องที่ทำนายอนาคตของอังกฤษและประเทศทางตะวันตกว่าเป็นเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ เพราะประเทศเหล่านี้มีระบบประชาธิปไตยที่มั่งคง มีพัฒนาการทางการเมืองและสถาบันทางการเมืองที่ต่อเนื่องจนเกินกว่าจะมีสภาพเช่นนั้นได้อย่างง่ายดาย นอกจากการมโนเอาเอง
วรนัยยังกล่าวอีกว่า
     Absolute rule of course has its benefits, otherwise human civilisations wouldn’t have thrived, survived and lasted all these millennia. Under a capable absolute ruler, things get done quickly and efficiently,...
    แน่นอนว่าการปกครองแบบคนเดียวมีอำนาจสูงสุดนั้นมีประโยชน์อยู่ มิเช่นนั้นแล้วอารยธรรมของมนุษย์ก็คงจะไม่เจริญงอกงาม อยู่รอด ดำรงอยู่ได้เป็นสหัสวรรษ ๆ ภายใต้ผู้ปกครองสูงสุด (แน่นอนว่าวรนัยต้องการโยงไปที่พลเอกประยุทธ์นั้นเอง -ผู้แปล) สิ่งจะถูกทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
หากมองแบบผิวเผินก็ไม่ผิดอะไร เพราะในอดีต สังคมมนุษย์เป็นแบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก ผู้อ่อนแอย่อมถูกยึดครอง กดขี่ เอารัดเอาเปรียบหรือทำลายโดยผู้ที่แข็งแรงกว่า ดังนั้นการรวมกลุ่มกันของสังคมภายใต้ผู้ปกครองที่เก่งกาจ เข้มแข็ง ดังเช่นพระเจ้าจิ๋นซีหรือพระเจ้านโปเลียน ย่อมทำให้สังคมอยู่รอดและยิ่งใหญ่ (แต่พระเจ้าจิ๋นซีก็ทำให้ชาวจีนตายไปมากเพราะการสร้างกำแพงเมืองจีนเช่นเดียวกับทหารฝรั่งเศสและชาวยุโรปจำนวนมหาศาลที่ตายจากสงครามที่เริ่มโดยพระเจ้านโปเลียน) ปัญหาก็คือผู้เขียนคิดว่าวรนัยไปให้ความสำคัญแก่ อารยธรรมในมิติของบุคคลสำคัญ ดังเช่นทฤษฎีเอกบุรุษ หรือ great man theory มากเกินไป วรนัยจึงมองข้ามความจริงว่าผู้ปกครองนั้นไม่สามารถปกครองได้ด้วยความสามารถของตัวเองโดยโดดๆ เพราะต้องอาศัยปัจจัยเสริมอื่นๆ รอบตัวอีกมากมายเช่น ที่ปรึกษา ขุนนาง ราชสำนัก ทหารที่ยอมพลีชีพเพื่อผู้ปกครอง ที่สำคัญคือประชาชนรากหญ้าตาดำๆ  ที่ต้องถูกใช้แรงงานและเสียภาษีให้กษัตริย์หรือจักรพรรดิ เช่นเดียวกับบริบททางการเมืองรอบภายในประเทศและภายนอกประเทศอีกมากมาย ดังนั้น     วรนัยจึงสรุปเอาง่ายๆ ว่า ถ้าผู้ปกครองสูงสุดดี ทุกอย่างก็จะดี (ว่าตามจริงแล้ว แม้แต่นิยามของความว่าดีก็ไม่ได้ตายตัวหรือจริงแท้เสมอไปดัง absolute ruler เช่นเหมา เจ๋อตงซึ่งเคยเป็นวีรบุรุษของชาวโลกแต่ก็ถูกแฉทีหลังว่ามีส่วนสำคัญทำให้คนจีนตายไปหลายสิบล้านคน)  ตามทฤษฎีเอกบุรุษซึ่งเป็นอุดมการณ์ภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกำลังถูกคสช.ประโคมโฆษณากันอยู่โครมๆ  
แน่นอนว่าในประโยคถัดมาวรนัยพยายามจะบอกว่าที่ผ่านมานั้นคนไทยได้เรียกร้องวีรบุรุษและวีรสตรีทั้งหลายในการมาช่วยเหลือตังแต่ทั้งฝั่งทักษิณ ยิ่งลักษณ์และผู้นำกลุ่มเสื้อแดง จนมาถึงฝั่งเสื้อเหลืองดังเช่นสุเทพ อภิสิทธิ์ สนธิ ฯลฯ จนมาถึงประยุทธ์ในปัจจุบัน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่ผิดเสียทีเดียวแต่ก็เป็นการมองข้ามการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์เรื่องประชาธิปไตยหรือความถูกต้องชอบธรรม (ตามแต่ละสีมอง) ไปอย่างน่าเสียดาย วรนัยได้ลดการต่อสู้ทางการเมืองเป็นเพียงการเรียกร้องขอวีรบุรุษจากคนไทยที่ไร้สติปัญญาหรือไร้ความสามารถที่จะเคลื่อนไหวหรือกำหนดชะตากรรมของตัวเอง
ในกรณีอารยธรรมนั้น เราควรจะให้การยกย่องแนวคิดหรืออุดมการณ์ งานศิลปะ ฯลฯ จำนวนมากที่สื่อแนวคิดเสรีนิยม แนวคิดอนาธิปไตย (ปฏิเสธรัฐ) หรือสังคมนิยมในรอบหลายร้อยปีที่ผ่านมาซึ่งต่อต้านการปกครองแบบ absolutism (รวมถึง dictator) ว่ายังเป็นตัวผลักดันหรือทำให้อารยธรรมมนุษย์อยู่รอดอีกด้วย  ไม่เช่นนั้นแล้วเราจะสามารถอธิบายการปฏิวัติอเมริกันที่ต้องการปลดแอกจากอำนาจเผด็จการของอังกฤษอย่างไรหรือเราจะสามารถอธิบายความยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาจนถึงทุกวันนี้ได้ว่าเกิดจากอำนาจของคนๆ เดียวคือประธานาธิบดีทั้งที่มีอำนาจอยู่อย่างจำกัดได้ลงคอหรือ เช่นเดียวกับที่เราจะสามารถอธิบายการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 อันเป็นการทำให้ฝรั่งเศสเป็นประชาธิปไตยที่มั่นคงดังในปัจจุบัน หรือการถือกำเนิดของประเทศประชาธิปไตยใหม่ในยุโรปตะวันออกดังเช่นฉากที่คนเยอรมันแห่กันไปทำลายกำแพงกรุงเบอร์ลินในปี 1989 กันอย่างไร แล้วเราจะมองหาสาเหตุของการลุกฮือในอาหรับ (Arab spring) เมื่อปี 2011 ได้ด้วยเหตุผลใด

ผู้เขียนขอปิดท้ายบทความนี้โดยการยกข้อเขียนของวรนัยดังต่อไปนี้
Today, the name is Prayuth Chan-ocha and there are millions supporting his absolute power, because they have complete faith that the general will do the right things for Thailand and then return to democracy. He will stomp corruption under his boots ,introduce  policies that will drive Thailand towards the ranks of developed countries…
“ทุกวันนี้ นามนั้นคือประยุทธ์ จันทร์โอชา และมีคนหลายล้านสนับสนุนอำนาจอันล้นพ้นของท่าน เพราะพวกเขามีความศรัทธาเต็มร้อยว่าท่านนายพลจะทำในสิ่งที่ถูกต้องสำหรับประเทศไทยและทำให้ไทยกลับสู่ประชาธิปไตย เขาจะหยุดยั้งคอรัปชันภายใต้รองเท้าบู๊ต นำนโยบายไทยไปสู่ระดับเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว...”
       ข้อสอบ
        จงกากบาทลงในข้อที่ถูกที่สุด
         1. วรนัยเขียนประโยคนี้ขึ้นมาเพราะอะไร
         ก.วรนัยเห็นเป็นเช่นนี้จริง เพราะเป็น absolute reality หรือความจริงขั้นสูงสุด
         ข.วรนัยต้องการประจบประแจงทหาร
        ค.วรนัยไปคัดเอาประโยคนี้มาจากหนังสือพิมพ์ในยุคที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ยึดอำนาจได้ใหม่ๆ เพราะนึกอะไรไม่ออก
        ง.วรนัยไม่เคยเรียนประวัติศาสตร์การเมืองไทยโดยเฉพาะยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเลย

Read Comments
  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น