ในการสัมมนาแห่งหนึ่ง นักวิชาการต่างชาติท่านหนึ่งได้ตั้งคำถามทำนองว่า ทำไมขบวนการ “ประชาสังคม” หรือ Civil Society จึงไม่ได้มีบทบาทช่วยเหลือสังคมในช่วงที่มีความสับสนทางการเมืองของประเทศไทย และมีผู้ถูกทำให้ “กลัว” มากมาย ผมจำไม่ได้ว่านักวิชาการไทยท่านนั้นตอบอย่างไร แต่หลายวันถัดมาในอีกงานสัมมนาหนึ่ง นักวิชาการไทยอีกท่านหนึ่งได้ตอบคำถามว่า ตอนนี้ต้องเรียก Civil Society ของไทยว่า Evil Society ไปแล้ว เพราะบทบาทของคนที่สังกัดอยู่ในกลุ่ม “ประชาสังคม” ยืนอยู่และเอาใจช่วยคณะรัฐประหารเป็นส่วนใหญ่
แม้ว่านักวิชาการท่านนั้นจะปากจัดมากไปหน่อย ถึงขนาดเปลี่ยนชื่อเรียกกลุ่มความคิด “ประชาสังคม” ไปในทางเลวร้าย แต่หากพิจารณาจากความเปลี่ยนแปลงของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของสังคมไทยโ ดยเปรียบเทียบกับที่อื่น ๆ ในโลก ก็น่าจะเห็นพ้องกันอย่างน้อยอย่างหนึ่งว่า หากเราหวังจะสร้างสังคมการเมืองให้เสมอภาค ยุติธรรม และสงบสุขแล้ว เราต้องก้าวข้ามให้พ้นความคิดในเรื่อง “ประชาสังคม” ให้ได้
ศาสตราจารย์ Ajay Gudavarthy เขียนหนังสือเรื่อง Politic of Post - Civil Society : Contemporary History of Political Movement in India ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของการคิดและเคลื่อนไหวของ “ประชาสังคม” และได้เน้นให้เข้าใจว่าแม้การเคลื่อนไหวตามแนวคิดนี้จะมีคุณค่าในช่วงเวลาหนึ่ง เพราะได้เปิดพื้นที่ให้แก่ผู้คนจำนวนไม่น้อย แต่ก็มีรากฐานทางความคิดที่จำกัดการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนทั่วไปอย่างลึกซึ้ง ดังนั้น จึง “ควรที่จะพิจารณาประชาสังคมผ่านด้านที่มืดดำ เพื่อที่จะเข้าใจอย่างแท้จริง และในการพิจารณานี้ก็จะทำให้เรามีความหวังว่า อะไรจะเป็นไปได้จริง ๆ ภายใต้ขีดจำกัดของกรอบความคิดนี้ ”
ประเด็นสำคัญที่ Ajay Gudavarthy ชี้ให้เห็นก็คือ ความคิดหลัก ๆ ของกลุ่มประชาสังคม ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง ความเป็นพลเมือง, สิทธิตามกฏหมาย, ความเป็นอิสระ/ความเป็นอิสระโดยสัมพัทธ์จากรัฐ, จิตสำนึกสาธารณะ, ความหลากหลาย/พหุวัฒนธรรม, ค่านิยมการจัดตั้งองค์กรทางสังคม ฯลฯ เป็นกระบวนการที่มีความขัดแย้งภายในตัวเอง เพราะการจะเกิดขึ้นของสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าว ล้วนแล้วแต่แยกไม่ออกจากการที่จะต้องสัมพันธ์กับรัฐอย่างแนบแน่น (เป็น Blocked Dialectics)
การเคลื่อนไหวของขบวนการประชาสังคม (Civil Society Movement) จึงถูกชักนำไปให้กลายเป็นส่วนที่ตอบสนองและผลิตซ้ำให้แก่โครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ดำรงอยู่ ( …in actively replicating and reproducing dominant and structured power relations)
ในสังคมไทย การเคลื่อนไหวตามกรอบความคิด “ประชาสังคม” เกิดขึ้นในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา โดยกลุ่มที่พยายามจะหยิบยืมความคิดนี้จากนักรัฐศาสตร์ตะวันตก (ซึ่งจำนวนไม่น้อยได้ดัดแปลงแปรรูปจากความคิดของกรัมซี่ไปมากมายทีเดียว) มาประยุกต์ใช้ในการสร้างกลุ่มชาวบ้านผ่านเครือข่ายนักพัฒนาเอกชน กลุ่มนำที่เคลื่อนไหวด้วยกรอบความคิดนี้เป็น “ชนชั้นนำ/ปัญญาชน” ขณะที่นักพัฒนาเอกชนส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางที่สืบทอดความเป็นชนชั้นมาสอง/สามรุ่น
การเคลื่อนไหวที่ทำท่าว่าจะเดินไปสู่การสร้างความเป็นอิสระโดยสัมพัทธ์กับรัฐก็ค่อย ๆ เข้าไปอยู่ร่วม หรือเป็นเสมือนกลไกหนึ่งของรัฐ กองทุนจำนวนมหาศาลถูกผ่องถ่ายจากรัฐมาสู่ปฏิบัติการ “ประชาสังคม” เพื่อที่จะทำให้ชาวบ้าน/ประชาชนอยู่กับรัฐอย่างไม่มีความขัดแย้ง การทำงานของ “ประชาสังคม” จึงเน้นไปที่การสร้าง “พลเมือง” ที่กระตือรือร้นเฉพาะในบางด้านของสิทธิ และเป็นสิทธิที่จะต้องกำกับโดยรัฐ เช่น สิทธิในการอยู่ในที่ที่ไม่มีคนสูบบุหรี่ เป็นต้น (ฮาหน่อยครับ เพราะผมยังเลิกไม่ได้)
“ประชาสังคม” ในสังคมไทยจึงถูกกลืนเข้าไปเป็นเนื้อเดียวกับรัฐ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่กลุ่ม “ประชาสังคม” กลายเป็นกลุ่มที่เสียงดังมากใน “มวลมหาประชาชน” แม้ว่าโดยส่วนตัวแล้ว คนเหล่านี้ไม่ใช่คนนิสัยไม่ดีหรือเห็นแก่ตัว หากแต่ด้วยกรอบคิดและการทำงานที่ผ่านมา ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่สามารถที่จะคิดถึงความเป็นอิสระโดยสัมพัทธ์ได้อย่างแท้จริงอีกแล้ว (หากจะพูดแบบปากจัด ก็คงบอกได้ว่า “โง่มากขึ้นเพราะฝังอยู่กับกรอบคิดเดิม” ครับ)
ในอีกด้านหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย การขยายตัวของเศรษฐกิจ/การผลิตเพื่อขาย (Commercialization) และการขยายตัวของรัฐ ทั้งทางด้านการบริการและการควบคุม (Expansion of State) ได้เปลี่ยนแปลงชาวบ้านในทุกหัวระแหงให้เข้ามาสัมพันธ์กับรัฐมากขึ้นมาก จนกล่าวได้ว่า ไม่มีพื้นที่ไหนในสังคมไทยที่กลไกของรัฐเข้าไปไม่ถึง
การขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ทำให้ชาวบ้านมากกว่าร้อยละหกสิบทำงานในภาคการผลิตไม่เป็นทางการ ซึ่งต้องพึ่งตนเองสูงมากกว่าเดิม จึงทำให้ต้อนรับการขยายตัวของรัฐทุกมิติด้วยความชื่นชมยินดี ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การรักษาพยาบาล ฯลฯ
รัฐขยายตัวเข้าไปสัมพันธ์กับกลุ่มคนใหม่นี้ด้วยกรอบคิดที่มองว่าจะต้องทำให้ “ประชากร” ในแต่ละพื้นที่ได้รับประโยชน์มากขึ้น กรอบคิด “ประชากร” ที่รัฐใช้นี่เอง จึงทำให้คนกลุ่มใหม่นี้ถักสานความสัมพันธ์ระหว่างกันเองหนาแน่น และมีจำนวนมากขึ้น เพื่อที่จะใช้เป็นเครื่องมือต่อรองประโยชน์จากรัฐ
คนกลุ่มนี้เพิ่งพ้นจากสังคมชาวนา และก้าวเข้ามาเป็นคนชั้นกลาง “รุ่น” แรกในชนบท (ผมใช้คำว่า “รุ่น” เพราะเป็น generation ที่ไม่ใช่ชาวนาอีกแล้ว) ได้จัดตั้งกลุ่มทางสังคมขึ้นมา เพื่อที่จะใช้เชื่อมต่อกับการเมือง คนกลุ่มนี้ไม่ได้คิดถึงความเป็นอิสระโดยสัมพัทธ์จากรัฐ หากแต่คิดและเน้นถึงการสร้างความสัมพันธ์กับรัฐในฐานะ “ประชากร” ของรัฐ เราเรียกคนกลุ่มนี้ได้ว่าเป็น “กลุ่มสังคมการเมือง” (Political Society)
การทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากไปสู่ “ประชากร” จำนวนมาก จึงเป็นเรื่องปรกติที่รัฐบาลทุกแห่งในโลกต้องทำ เพราะจำนวน “ประชากร” หมายถึงเสียงที่จะลงคะแนนให้ในการเลือกตั้ง แต่การเน้น “ ประชากร” ของรัฐและกลุ่มสังคมการเมืองกลับขัดแย้งกับกรอบคิด “สังคม” ของกลุ่มประชาสังคม เพราะกลุ่ม “ประชาสังคม” ไม่ทันคิดว่า ในกลุ่ม “ประชากร” ก็เป็นกลุ่มทางสังคมอีกกลุ่มหนึ่ง จึงทำให้กลุ่ม “ประชาสังคม” เห็นเพียงคนแต่ละคนที่จะถูก “ซื้อเสียง” ด้วยนโยบายที่เน้น “ประชากร”
ด้วยการมองไม่เห็น “สังคมการเมือง” และเห็นแต่เพียง “ประชากร” ประกอบกับมโนทัศน์ที่เน้นการทำงานกับสังคมชาวนาที่สงบนิ่ง จึงยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาดไปอย่างมากทีเดียว
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมีหลายมิติซ้อนทับกันอยู่ แต่มิติหนึ่งที่กำกับปัญญาชนให้เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ไม่นำไปสู่ความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงของสังคม และผลักดันให้แสดงตนในการเคลื่อนไหวที่ขัดขวางความเสมอภาคของพลเมือง ได้แก่ มิติทางความคิดเรื่อง “ประชาสังคม”
ช่วยกันคิดหน่อยครับว่า เราจะก้าวข้ามขีดจำกัดทางความคิดนี้กันได้อย่างไร
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น