ต้นกำเนิดของ “ลิขสิทธิ์” ในโลกภาษาเยอรมันนั้นดูจะต่างจากอังกฤษและฝรั่งเศส ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสนั้น “ลิขสิทธิ์” นั้นเกิดขึ้นในฐานะของการสร้างระเบียบการผูกขาดการพิมพ์อันเกิดจากอำนาจสภาแทนที่จะเป็นอำนาจกษัตริย์ ซึ่งทั้งคู่กฎหมายลิขสิทธิ์ก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นผลพวงไม่ทางตรงก็ทางอ้อมของการปฏิวัติทางการเมือง แต่ในกรณีของปรัสเซียการเกิดขึ้นของกฏหมายลิขสิทธิ์ดูจะเป็นผลของการปฏิรูปโดยกษัตริย์เองเสียมากกว่า
พระเจ้าเฟรเดอริคมหาราชแห่งปรัสเซียเป็นกษัตริย์ที่มีแนวโน้มจะปฏิรูปรัฐปรัสเซียให้กลายเป็นรัฐสมัยใหม่ที่ “ข้าราชการ” ไม่ได้มองว่าตนกำลังใช้กษัตริย์อยู่ แต่รับใช้รัฐ [1] และการปฏิรูปที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือการพยายามสร้างระบบกฎหมายสมัยใหม่ที่เป็นระบบขึ้น โครงการปฏิรูปกฎหมายนี้เกิดขึ้นตอนปลายรัชกาลและยาวนานเป็นสิบปีทำให้มันไปเสร็จสิ้นจนประกาศใช้ในปี 1794 อันเป็นช่วงเวลาของอีกรัชกาลแล้ว
ประมวลกฎหมายของปรัสเซียนี้มีชื่อเรียกทุกวันนี้ว่า Allgemeines Landrecht fur die Preussischen Staaten  (เรียกย่อว่า ALR) ซึ่งก็น่าจะแปลได้ว่า “กฎหมายแห่งชาติทั่วไปของรัฐปรัสเซีย” มันมีขอบเขตเนื้อหาที่หลากหลาย (จนนักกฎหมายบางคนก็ถือว่ามันน่าจะถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญได้ด้วย [2]) และในนั้นก็มีส่วนที่พูดถึง “สิทธิของผู้พิมพ์” (Verlagsrecht) [3] อยู่ด้วยในหมวด “สัญญาการพิมพ์” และนี่ก็ดูจะเป็นครั้งแรกของปรัสเซียที่มีการระบุชัดเจนว่าการพิมพ์งานที่ผู้อื่นพิมพ์มาแล้วอย่างถูกต้องตามประมวลกฎหมายโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นเป็นความผิดตามกฎหมาย
สิ่งที่น่าสนใจคือในกระบวนการแก้ร่างประมวลกฎหมายในส่วน “สัญญาการพิมพ์” ผู้ที่มีอิทธิพลในการแก้อย่างมหาศาลคือพ่อค้าหนังสือปัญญาชนแห่งเบอร์ลินอย่าง Friedrich Nicolai ในตอนปลายกระบวนการแก้ร่างกฎหมาย ทาง Friedrich Nicolai ได้ส่งจดหมายไปยังคณะกรรมการร่างฯ เพื่อ “แนะนำ” แนวทางของกฏหมายอันสมควร ผลคือร่างสุดท้ายของกฎหมายนั้นมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขตามคำแนะนำของ Nicolai แทบจะทั้งหมด และนี่ทำให้ “กฎหมายลิขสิทธิ์” ของโลกภาษาเยอรมันนั้นได้รับอิทธิพลจากพ่อค้าหนังสือโดยสมบูรณ์ ซึ่งหากจะเทียบกับ “กฎหมายลิขสิทธิ์” ของทางอังกฤษและฝรั่งเศสแล้ว จะเห็นได้ว่า “กฎหมายลิขสิทธิ์” ของเยอรมันไม่มีการพูดถึง “สิทธิของผู้เขียน” อย่างตรงๆ เลย ทว่าจะพูดถึงแต่ “สิทธิของผู้พิมพ์”
เมื่อมองอย่างเปลี่ยนเทียบคำถามตรงนี้มีสองประการคือ ประการแรก เหล่านักเขียนในโลกภาษาเยอรมันในศตวรรษที่ 18 นั้นไม่สำนึกถึง “สิทธิของผู้เขียน” ของตนเลยหรือ? ประการที่สองทำไมกลุ่มพ่อค้าหนังสือจึงต้องการการรองรับ “สิทธิของผู้พิมพ์” ในทางกฎหมาย? คำตอบดูจะอยู่ในลักษณะเฉพาะของการผลิตในหนังสือในโลกภาษาเยอรมัน
ดังที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้แล้วว่าลักษณะเฉพาะของนักเขียนในโลกภาษาเยอรมันคือพวกนี้จะเป็น “ข้าราชการ” กันเกือบหมดดังนั้นจะเห็นได้ว่านักเขียนในโลกภาษาเยอรมันนั้นมีแหล่งรายได้อยู่แล้ว คนพวกนี้เขียนหนังสือเป็น “งานอดิเรก” ไม่ได้เขียนเป็นอาชีพ (ซึ่งขนาดและลักษณะตลาดหนังสือของโลกภาษาเยอรมันในช่วงนั้นก็ไม่เอื้อให้เกิดนักเขียนอาชีพ [4]) พวกเขาแทบทั้งหมดดูจะไม่ได้ยินดียินร้ายนักกับการมีหรือไม่มี “ลิขสิทธิ์” เพราะนั่นก็ไม่ใช่คำถามคอขาดบาดตายด้านปากท้อง (ซึ่งเอาจริงๆ ในศตวรรษที่ 18 พวกนักเขียนที่สนใจ “ลิขสิทธิ์” จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนในโลกก็มีแค่พวกนักเขียนยอดฮิตที่ถูกพิมพ์งานซ้ำบ่อยๆ เท่านั้น) ทั้งนี้ทั้งนั้นเวลาพวกเขาเขียนหนังสือพวกเขาก็จะได้รับ “สินน้ำใจ” การพิมพ์หนังสือแก่ผู้เขียนจากสำนักพิมพ์ซึ่งเรียกว่า honoralia
ในระบบแบบนี้ นักเขียนก็เลือกได้ว่าจะไปตีพิมพ์งานกับสำนักพิมพ์อะไร และโดยทั่วไปการพิมพ์ครั้งหนึ่งๆ ก็จะมีการจ่าย “สินน้ำใจ” ให้เสมอจากสำนักพิมพ์ นักเขียนสามารถเลือกได้ที่จะให้ต้นฉบับของตนกับสำนักพิมพ์ไหนเพื่อให้มีการพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ ซึ่งทางสำนักพิมพ์ต้องต้องไปยื่นขออภิสิทธิ์ในการผูกขาดการพิมพ์กับทางราชสำนักในแต่ละรัฐเอง และนั่นจะทำให้สำนักพิมพ์นั้นๆ มีสิทธิ์ผูกขาดขายหนังสือแต่เพียงผู้เดียวในรัฐ อย่างไรก็ดีในทางปฏิบัตินักเขียนก็สามารถที่จะให้ต้นฉบับของตนกับหลายๆ สำนักพิมพ์ก็ได้ (ซึ่งบางครั้งก็เป็นต้นฉบับฉบับปรับปรุงใหม่) โดยเฉพาะสำนักพิมพ์ที่อยู่คนละรัฐ ซึ่งในทางกฎหมายแล้วการพิมพ์หนังสือของนักเขียนคนหนึ่งๆ ซ้ำก็ไม่ถือเป็นการละเมิดอภิสิทธิ์รัฐที่พิมพ์หนังสือเป็นครั้งแรก เพราะอภิสิทธิ์แต่ละรัฐแยกขาดจากกัน หรือกล่าวอีกแบบคืออภิสิทธิ์แต่ละรัฐมันบังคับใช้ได้ตามอำนาจศาลแต่ละรัฐเท่านั้น
น่าสนใจว่าการใช้ “สิทธิ” ในการให้ต้นฉบับสำนักพิมพ์ไปพิมพ์ของนักเขียนในโลกภาษาเยอรมันเกิดขึ้นโดยไม่ได้มีกฎหมายรองรับ เพราะตลอดศตวรรษที่ 18 ไปจนถึงต้นศตวรรษที่ 19 ก็ไม่มีบทบัญญัติทางกฎหมายใดในโลกภาษาเยอรมันที่จะระบุชัดเจนว่าผู้เขียนนั้นเป็น “เจ้าของ” งานเขียนอย่างเป็นนามธรรมหรือเป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการทำซ้ำงานเขียนของตัวเอง ที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ในนาม “ลิขสิทธิ์”
เมื่อไม่มีลิขสิทธิ์ก็ไม่ใช่แค่พ่อค้าหนังสือเถื่อนเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์ แต่นักเขียนเองก็อาจได้ประโยชน์ถ้ารู้จักเล่นกับมัน และในกรณีนี้ นักเขียนในโลกภาษาเยอรมันก็ดูจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่ใช้สิทธิ์ในทางกายภาพของตนเอาต้นฉบับไปให้พ่อค้าหนังสือจากหลายๆ รัฐพิมพ์หนังสือมาอย่างซ้ำกันและก็ได้ “สินน้ำใจ” ไปหลายรอบ
แน่นอนว่าการกระทำแบบนี้นักเขียนได้ประโยชน์ แต่พ่อค้าหนังสือโดยเฉพาะพ่อค้าหนังสือที่พิมพ์หนังสือครั้งแรกนั้นเสียประโยชน์อย่างร้ายแรง เพราะมันไม่มีหลักประกันทางกฎหมายใดๆ ว่านักเขียนจะไม่ไปให้สำนักพิมพ์อื่นพิมพ์หนังสือตนซ้ำอีกโดยไม่ปรึกษากับสำนักพิมพ์ก่อน (ไม่ต้องพูดถึงขออนุญาต) ตัวอย่างเช่นถ้านักเขียนให้สำนักพิมพ์ A พิมพ์หนังสือของตนแล้ว สำนักพิมพ์ A ยังไม่ได้ยื่นขออภิสิทธิ์ แล้วทางนักเขียนให้สำนักพิมพ์ B ไปพิมพ์ซ้ำอีก (อาจจะแก้ไขปรับปรุงใหม่) ทางสำนักพิมพ์ B ก็ไม่ได้ทำผิดกฎหมายอะไร และนักเขียนก็จะได้ “สินน้ำใจ” จากทั้งสำนักพิมพ์ A และ B โดยที่คนที่น่าจะ “เสียหาย” ที่สุดก็คือสำนักพิมพ์ A ที่ต้องรับความเสี่ยงที่หนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรกจะขายได้ไม่หมดตามเป้าเพราะคนจะไปซื้อฉบับพิมพ์ใหม่กันหมด แน่นอนว่าในกรณีแบบนี้เราก็คาดหวังได้ว่าสำนักพิมพ์ A ก็คงจะไม่ยอมพิมพ์งานของนักเขียนผู้นั้นอีก ซึ่งสำหรับนักเขียนผู้นั้นมันก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะสำนักพิมพ์ทั่วโลกภาษาเยอรมันก็มีอีกเป็นสิบๆ กล่าวคือสำนักพิมพ์แทบจะไม่มีอำนาจต่อรองเลย ถ้านักเขียนทำการ “ทรยศ” โดยการนำงานตนไปพิมพ์ซ้ำกับสำนักพิมพ์อื่น
นี่นำเรากลับมาสู่ประมวลกฎหมายปรัสเซียที่มีการระบุ “สิทธิของผู้พิมพ์” อย่างชัดเจนและมีข้อกำหนดโทษแก่ผู้เขียนที่นำงานตัวเองไปพิมพ์ซ้ำ (ไม่ว่าจะปรับปรุงใหม่หรือไม่) กับสำนักพิมพ์อื่นทั้งการพิมพ์ครั้งก่อนยังขายไม่หมด (โดยกำหนดให้ผู้เขียนที่ “ทรยศ” สำนักพิมพ์ไปพิมพ์ต้องซื้อหนังสือตัวเองจากสต็อคที่เหลือทั้งหมดในราคาเต็ม [5]) แม้ว่าจะไม่มีบันทึกชัดเจนว่ามีนักเขียนจำนวนแค่ไหนที่กระทำการพิมพ์ซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาติหรือปรักษากับสำนักพิมพ์ที่พิมพ์ครั้งแรกก่อน กรณีนี้ก็ดูจะทำให้เราเห็นว่า อย่างน้อยแล้วในทางทฤษฎี ผู้เสียหายตัวจริงของภาวะไม่มีลิขสิทธิ์ก็อาจเป็นแค่สำนักพิมพ์ก็ได้ ทางด้านตัวนักเขียนเองก็อาจกลับสามารถใช้ประโยชน์จากภาวะไร้ลิขสิทธิ์ในการหารายได้เพิ่มเติมอีกต่างหาก และนี่ก็ดูจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในภาวะที่ไม่มี “นักเขียนอาชีพ” เพราะการทำแบบนี้ไปและเสียความสัมพันธ์กับสำนักพิมพ์ไปเรื่อยๆ กระทั่งไม่มีใครพิมพ์งานให้เลยในท้ายที่สุดก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายเพราะนักเขียนเหล่านั้นก็มี “งานประจำ” เป็นข้าราชการอยู่แล้ว ซึ่งนี่ก็ยังไม่นับว่าในโลกภาษาเยอรมันนั้นมันก็เต็มไปด้วยสำนักพิมพ์สารพัดที่นักเขียนสามารถเลือกจะพิมพ์กับสำนักพิมพ์ใดๆ ในรัฐไหนก็ได้อีก และทั้งหมดนี้ก็ดูจะทำให้ผู้ที่ต้องการการปกป้องจริงๆ ดูจะเป็นสำนักพิมพ์มากกว่านักเขียนที่อาจเป็นผู้หนุน “หนังสือเถื่อน” เอาซะเองพร้อมส่วนแบ่งรายได้
และปรากฎการณ์นี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกพิสดารอะไร เพราะนักเขียนในยุคแห่งความรู้แจ้งในยุโรปก็ดูจะไม่ได้มีความรังเกียจอะไรกับพวกพ่อค้าหนังสือเถื่อนอยู่แล้ว เพราะอย่างน้อยๆ ก็มีบันทึกมากมายว่านักเขียนพร้อมจะทำการค้าขาย “สิทธิ์” ในการพิมพ์งานเขียนของตนกับพวกพ่อค้าหนังสือเถื่อน เช่นในกรณีของนักเขียนอังกฤษที่ส่งต้นฉบับไปให้พ่อค้าหนังสือเถื่อนอเมริกาพิมพ์แข่งกับอังกฤษเอง [6] ปรากฎการณ์แบบนี้ก็ดูจะให้ภาพของนักเขียนในฐานะของผู้ที่ไม่เคารพ “ลิขสิทธิ์” ของสำนักพิมพ์ มากกว่าที่จะให้ภาพของสำนักพิมพ์ที่เอารัดเอาเปรียบนักเขียนอันเป็นภาพที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ภาพของนักเขียนในฐานะ “ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์” เสียเองดูจะเป็นเรื่องผิดปกติในยุคปัจจุบัน แต่ดูจะเป็นเรื่องธรรมดาในยุคแห่งการรู้แจ้ง ดูจะเป็นเรื่องและการเกิดขึ้นของ “สิทธิของผู้พิมพ์” ในประมวลกฎหมายปรัสเซียเพื่อป้องกันพฤติกรรมดังกล่าวของนักเขียนก็ดูจะเป็นเครื่องย้ำเตือนเราถึงประเด็นนี้
อ้างอิง:
  1. W. H. Bruford, Germany in the Eighteenth Century: The Social Background of The Literary Revival, (Cambridge: Cambridge University Press, 1935), pp. 44-45, 264
  2. Friedemann Kawohl, “The Berlin Publisher Friedrich Nicolai and the Reprinting Sections of the Prussian Statue Book of 1794” in Privilege and Property: Essays on the History of Copyright, Ronan Deazley, Martin Kretsmer and Lionel Bently (eds.), (Cambridge: OpenBook Publishers, 2010)
  3. Verlagsrecht เป็นคำภาษาเยอรมันที่น่าจะแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Printing/Printer’s Right
  4. นักวิชาการบางกลุ่มมักจะอธิบายง่ายๆ ว่าปัญหาคือโลกภาษาเยอรมันคือ “ไม่มีกฎหมายลิขสิทธิ์” จึงทำให้ตลาดหนังสือโตสู้อังกฤษไม่ได้ อย่างไรก็ดีนี่เป็นคำอธิบายที่ดูจะมักง่ายมากหากพิจารณาว่าเอาจริงๆ อังกฤษที่มีกฎหมายลิขสิทธิ์แล้วก็แทบไม่ได้มีการบังคับใช้  อันที่จริงปัจจัยที่ทำให้ตลาดหนังสืออังกฤษโตกว่าโลกภาษาเยอรมันนั้นมีเยอะมากๆ ตั้งแต่การรวมศูนย์ของตลาดที่เมืองที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปอย่างลอนดอน (ที่ตอนสิ้นศตวรรษที่ 18 มีประชากรกว่าเบอร์ลินราวๆ 5 เท่า) การที่อัตราการรู้หนังสือของคนอังกฤษสูงกว่าคนในโลกภาษาเยอรมันอย่างมหาศาล การที่รสนิยมการอ่านหนังสือของคนทั่วอังกฤษมีลักษระคล้ายกับคนลอนดอนไปหมดในขณะที่รสนิยมในการอ่านหนังสือของคนในโลกภาษาเยอรมันต่างกันไปในแต่ละรัฐ การที่อังกฤษมีการเติบโตด้านการค้าและการบริโภคมากกว่าโลกภาษาเยอรมันอย่างมหาศาล ไปจนถึงปัจจัยกว้างๆ ที่ว่าอังกฤษมี “เสรีภาพทางการพิมพ์” ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีในโลกภาษาเยอรมันโดยรวมๆ ที่ทุกรัฐมีกองเซ็นเซอร์เป็นของตัวเองและแบนหนังสือกันเป็นปกติ ปัจจัยพวกนี้ล้วนเป็นคำอธิบายที่ดูจะเหมาะกว่าการอธิบายง่ายๆ ว่าการที่ตลาดหนังสือภาษาเยอรมันสู้ตลาดหนังสือภาษาอังกฤษไม่ได้เพียงเพราะไม่มีกฎหมายลิขสิทธิ์ที่ใช้งานได้จริง
  5. §. 1018-1019 ในประมวลกฏหมายปรัสเซีย อ่านออนไลน์ได้ที่http://www.copyrighthistory.org/cam/tools/request/showRepresentation?id=representation_d_1794&pagenumber=1_1&show=translation
  6. ประเด็นนี้ค่อนข้างซับซ้อน แต่หากจะให้อธิบายสั้นๆ คือสำนักพิมพ์ในอเมริกาที่ต้องการจะพิมพ์หนังสือในอังกฤษแบบเถื่อนนั้นก็มีมากมาย และแต่ละสำนักพิมพ์ก็แช่งขันกันพิมพ์ให้เร็วที่สุดในแบบที่หนังสือจากอังกฤษมาถึงท่าเรือแล้วพวกพ่อค้าก็ต้องส่งคนไปรับนำมันมาเข้าโรงพิมพ์ และใครพิมพ์ออกมาเร็วที่สุดก็จะเป็นผู้ที่ขายได้ ในกระบวนการแข่งขันกันแบบนี้ ก็คงจะมีผู้เดียวในอังกฤษที่จะมีต้นฉบับงานอยู่นอกสำนักพิมพ์ก็คือนักเขียน พวกสำนักพิมพ์ “เถื่อน” ในอเมริกาเหล่านี้ก็ได้พัฒนากระบวนการได้ต้นฉบับมาพิมพ์จากการรีบซื้อทันทีเมื่อหนังสือวางตลาดและส่งกลับมาอเมริกาอย่างเร็วที่สุดไปเป็นการติดต่อนักเขียนโดยตรงเพื่อจะได้ต้นฉบับมาอเมริกาก่อนสำนักพิมพ์อื่นๆ ที่จะพิมพ์ขายได้หลังหนังสือที่พิมพ์ในอังกฤษอังกฤษมาถึงท่าเรือแล้วเท่านั้น ซึ่งนักเขียนก็ไม่ได้รังเกียจอะไรในการขายต้นฉบับซ้ำให้สำนักพิมพ์ในอเมริกาภายหลังจากขายให้สำนักพิมพ์ในอังกฤษไปแล้ว