You can replace this text by going to "Layout" and then "Edit HTML" section. A welcome message will look lovely here.
RSS

วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2557

กฏอัยการศึก: กฏที่สร้างความไม่น่าไว้วางใจแก่ปวงชน

ก่อนหน้านั้นผู้เขียนจำได้ว่า  ไม่ใคร่จะสนใจเรื่องของการเมืองระดับประเทศมากนัก  พอที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมเพียงแค่การเลือกตั้ง ซึ่งจำต้องกลับบ้านเป็นประจำไม่เคยขาด  แต่พักหลังนับตั้งแต่ที่พื้นที่ทางการเมืองระดับใหญ่ฟัดกันอย่างนัวเนียหาที่จะลงเอยไม่ได้ เมื่อการแบ่งขั้วมันเด่นชัดมากขึ้น  ประเด็นเรื่องของการเลือกตั้ง พฤติกรรมทางการเมืองของคนในชาติก็เลยถูกตั้งคำถาม
ข้อเขียนในครั้งนี้ไม่ได้สะท้อนเรื่องของการเลือกตั้ง แต่ตั้งคำถามกับวัฒนธรรมทางการเมือง ซึ่งมันไกลออกมาจากเรื่องของการที่คนชนบทเลือกตั้งแต่คนในเมืองล้มรัฐบาลออกมามาก  เพราะเกมการเมืองไม่ใช่เพียงแค่ การเลือกตั้ง หรือ ประชาชนจะสนใจเลือกเฟ้นหาพรรคการเมืองที่มีนโยบายที่ตรงใจเข้าไปเท่านั้น  เหตุที่การเมืองไม่ได้เป็นเรื่อง แค่ " เลือกตั้ง" เพื่อให้เกิดการก่อตั้งรัฐบาลแล้วจบ เพราะเมื่อพิจารณาดูดีๆแล้วผลที่สะท้อนกลับมาคือ  การเกิดการแบ่งขั้ว การทะเลาะกันเอง  ความไม่ลงรอย และสุดท้ายคนภายในประเทศแบ่งแยกกันอย่างกับจะจ้องฆ่าล้างโคตร หรือ ล้างเผ่าพันธุ์  กลายเป็นเรื่องที่ย้อนกลับไปยังระบบคิดแบบเดิม
มาตรการหรือกลไกที่ประเทศเราใช้มาตลอดคือเรื่องของ "กฏอัยการศึกกฏนี้สำคัญอย่างไร เหตุใดต้องให้ความสำคัญ   เพราะเนื่องจาก เมื่อไรที่ประชาชนได้ยินคำว่า กฏอัยการศึกขึ้นมา  เมื่อนั้นคนก็จะเดาแล้วว่าที่สุดของการใช้กฏนี้ ก็จะตามมาด้วยการรัฐประหาร  ซึ่งก็จะมีทหาร กองทัพออกมา  และนั่นเป็นที่มาว่า การรัฐประหารแต่ละครั้งที่เกิดขึ้นย่อมมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย  คำว่าเห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วย มันกลับสำคัญน้อยกว่าคำว่า เมื่อรัฐประหารแต่ละครั้งเสร็จ  จะมีแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาการเมือง หรือ วัฒนธรรมการเมืองได้หรือไม่  คำตอบคือ เราก็จะเห็นการที่กองทัพได้รับการแต่งตั้ง หรือพยายามที่จะจัดตั้งพรรคคุมเกมชั่วคราว  ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ และพอเกิดการเลือกตั้ง ผลประโยชน์ในการจัดสรรทรัพยากรไม่เป็นดั่งใจ ภาวะที่คนในเมืองได้ไม่เท่าคนในชนบท  ความพยายามที่จะล้มรัฐบาลก็เลยเกิดขึ้นผ่านการระดมพล  การประท้วง ซึ่งเป็นภาพที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า  แต่ไม่มีเวทีเจรจาอย่างจริงจัง  การใช้กำลังเลยกลายมาเป็นอาวุธที่สองฝ่ายใช้ต่อสู้ฟาดฟันกัน   เมื่อภาวะความชุลมุนเกิดขึ้นจนเกินกำลังจะต้านทาน กฏอัยการศึกในความหมายที่เข้าใจแรกเริ่มนั้นคือ กฏหมายที่ออกมาเพื่อระงับเหตุฉุกเฉินเท่านั้น เลยกลายมาเป็นความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนไปคือ เมื่อประกาศกฏอัยการศึกเมื่อไรการทำรัฐประหารย่อมเกิดขึ้น การเอาทั้งสองไปผนวกรวมกันเลยกลายมาเป็นประเด็น ในที่นี่ผู้เขียนไม่ได้ชี้ไปที่ตัวรัฐประหาร เพราะก็ย่อมรู้แล้วว่ารัฐประหารไม่อาจจะกล่าวได้ว่าควรหรือไม่ที่จะนำมาใช้   เนื่องจากร่องรอยของการทำรัฐประหารที่เกิดขึ้นในประเทศไทยแต่ละครั้งที่ผ่านมาก็เป็นเครื่องที่พิสูจน์แล้วว่าไม่เคยก่อให้เกิดประโยชน์เลย  แต่ทว่ากลับบีบคั้นให้เกิดการใช้กฏหมายเข้าบังคับจัดการกับผู้คนมากขึ้น
ความหนักหน่วงที่สุมอกที่ทำให้เกิดข้อเขียนในวันนี้ คือ รัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมาสร้างความงุนงงแก่ผู้เขียนไม่น้อยและไม่เห็นด้วยยิ่งนัก  แม้ว่าก่อนหน้านั้นปรารถนาที่จะให้ทาง นปช.ก็ดีและ กปปส.ก็ดียุติความเคลื่อนไหว แล้วหันหน้ามาเจรจากัน  เพราะข้อเรียกร้องที่คุณสุเทพ เทือกสุบรรณเรียกร้องให้ปลดนายกฯ ก็เป็นไปตามความต้องการของท่านแล้วอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกอย่างเห็นได้ชัด คดีได้รับการสะสางจากการพิจารณาของศาล  แล้วเขาต้องการอะไรอีก!!!   ความยืดเยื้อที่บ่มเพาะ แล้วเสนอข้อเรียกร้องของตนฝ่ายเดียว โดยที่พื้นที่ทางความคิดของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการยอมรับ นั่นยิ่งกลายเป็นคำถามว่าสิ่งที่คุณเรียกร้องนั้นคุณทำเพื่อชาติจริงหรือไม่?   หากคุณทำเพื่อชาติจริง คุณก็ต้องมานั่งฟัง นั่งคุยถึงแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกัน  ไม่ใช่ปัญหาเรื่องว่าใครจะชนะ หรือ แพ้  แต่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมการเมือง (Cultural of Politic) ที่คุณต้องเล่นในเกม คนที่เสียไม่ใช่ใคร แต่เป็นคนที่ยังชีพด้วยระบบเศรษฐกิจ  คนทำมาหากินที่ได้รับผลกระทบจากความยืดเยื้อปักหลักการชุมนุมดังกล่าว   เมื่อวัฒนธรรมของการเข้าใจกันในการแสดงตนและการต่อสู้ทางการเมืองแต่ละฝ่ายมันตรงข้ามกัน  วัฒนธรรมเรื่องของการใช้กฏหมายเพื่อห้ามปราม มันก็เลยใช้ไม่ถูกจังหวะเพราะหลังจากรัฐประหารสถานที่ราชการ สถานศึกษาหยุดทำการ  ตามมาด้วยการกักกันในชีวิตประจำวันที่ไม่สะดวก  มากกว่านั้นคือ การรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กลายเป็นการรัฐประหารที่ผู้เขียนเรียกว่า  เผด็จการที่สุด เพราะใช้อำนาจทางกฏหมายควบคุม จัดการคนที่ไม่เห็นด้วยทางโซเชียลมีเดียและนั่นทำให้เข้าใจว่า กฏหมายไม่ได้เป็นเครื่องมือของการช่วยเหลือให้เกิดภาวะที่ฟื้นคืนกลับสภาพปกติ  แต่เป็นคุกที่จะฟาดฟันกับใครก็ได้ที่เห็นต่าง  คนที่แสดงความคิดเห็นเลยตกเป็น "จำเลย"  ซึ่งการเข้าคุกกลายมาเป็นเรื่องง่ายๆ พอเป็นเรื่องง่ายคนก็กลัวที่จะแสดงความคิดเห็น ทั้งๆที่เป็นเรื่องที่ควรจะแสดงความเห็น   หากคนไม่เข้าใจ ก็ควรจะหาทางทำความเข้าใจใหม่
ผู้เขียนจึงขอตั้งคำถามว่า  หากจะมีอะไรที่ต่อท้ายเกี่ยวกับหน้าที่หรือ บทบาทของกฏอัยการศึก นอกเหนือจากการระบุว่า เพื่อระงับเหตุฉุกเฉิน  ควรจะเติมท้ายว่า ให้แต่ละฝ่ายหันมาเจรจากัน  ตกลงร่วมกันภายในระยะเวลาเท่าไร กฏอัยการศึกต้องนำไปสู่ทางออกที่สองฝ่ายจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน หรืออย่างน้อยก็คลี่คลายปัญหาในแต่ละประเด็น  ก่อนที่จะมีการนำข้อเสนอที่สองฝ่ายเจรจาเข้าสู่การพิจารณาของศาล ทว่าเท่าที่ผ่านมาผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับการออกกฏอัยการศึกจะมาจากสายทหาร ความหนักใจเลยอยู่ ณ จุดนี้  ซึ่งควรอย่างยิ่งที่จะปรับเปลี่ยนหรือ สร้างความหมายของกฏอัยการศึกใหม่ อย่างน้อยก็ทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นพร้อมทั้งสามารถนำไปใช้ได้จริง ประการแรกที่ผู้เขียนนำเสนอคือ การสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองร่วมผ่านกระทรวงศึกษาธิการ  ในฐานะผู้ที่สร้างมาตรฐานด้านการศึกษาและผลิตสื่อด้านการเรียนการสอนให้บัญญัติความหมาย หรือ ขอบเขตของกฏอัยการศึกใหม่ อย่างน้อยนักศึกษาที่ถูกผลิตออกไป จะเข้าใจการใช้กฏหมายมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะนักเรียนกฏหมายหรือผู้ที่ทำงานเกียวข้องกับการใช้กฏหมายเท่านั้นที่ต้องรู้  ประการที่สอง สำคัญอยู่ที่ผู้ที่ใช้มีอำนาจในการใช้กฏก็ควรจะใช้กฏตามวัตถุประสงค์เพื่อระงับเหตุ และสร้างทางออกร่วมกัน ไม่ใช่เอื้อประโยชน์ให้ผู้ใดผู้หนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นประโยชน์สำหรับประเทศ คนในชาติที่มีสิทธิใช้กฏหมายและได้รับผลกระทบจากการใช้กฏหมายร่วมกัน  หากเราสร้างความเข้าใจแบบเป็นองค์รวม สร้างความเข้าใจหลายฝ่าย กฏหมายจะเป็นกฏหมายเพื่อบังคับเหตุให้คนในชาติไม่รบราฆ่าฟันกันเอง ดังเพลงชาติที่ตอกย้ำความสามัคคีของคนในชาติว่า ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด...  อย่าให้คนไทยทุกหมู่เหล่า ทุกศาสนา ทุกชาติพันธุ์ต้องกลายเป็นคนเลือดเย็นที่หันมารบกันเอง แล้วชาติจะอยู่ได้เยี่ยงไร

Read Comments
  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น