You can replace this text by going to "Layout" and then "Edit HTML" section. A welcome message will look lovely here.
RSS

วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เสื้อแดงและผู้รักประชาธิปไตยควรเลิกหลอกตัวเอง

เสื้อแดงและผู้รักประชาธิปไตยควรเลิกหลอกตัวเอง

กองบรรณาธิการเลี้ยวซ้าย

รัฐประหารรอบล่าสุดดูเหมือนจะใกล้ถึงเป้าหมาย เหลือแค่การล้มรัฐมนตรีรักษาการ แล้วแต่งตั้งนายก ม๗ ก็จบ และที่แกนนำ นปช. ประกาศว่าจะ “สู้จนถึงที่สุด” นั้นมีความหมายอะไรในรูปธรรม? หรือเป็นเพียงคำพูดที่ไร้ความหมายเพื่อเอาใจคนรักประชาธิปไตย?



     มาถึงจุดนี้แล้ว ชาวเสื้อแดงและคนรักประชาธิปไตยอื่นๆ ควรทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ม็อบพันธมิตรแรกปรากฏตัว
     มีการยุบสภาและประกาศการเลือกตั้งสองครั้ง โดยหวังว่าจะพิสูจน์กับประชาชน ว่าการพยายามล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นขาดความชอบธรรม แต่ทั้งสองกรณี ภายใต้ทักษิณครั้งหนึ่ง และภายใต้ยิ่งลักษณ์อีกครั้ง เพียงแต่ทำให้ฝ่ายประชาธิปัตย์และพวกต่อต้านการเลือกตั้ง บอยคอตการเลือกตั้ง ก่อม็อบต่อไป แล้วในที่สุดจบลงด้วยรัฐประหารทหาร หรือรัฐประหารตุลาการ
     มีการเลือกตั้ง 4 ครั้ง ฝ่ายไทยรักไทย พลังประชาชน หรือเพื่อไทย ชนะทุกครั้ง โดยไม่มีหลักฐานการโกงแต่อย่างใด แต่กลับจบลงด้วยการล้มรัฐบาลด้วยวิธีต่างๆ ดังนั้นการเลือกตั้งรอบต่อไป ถ้าเกิดจริงและไม่โดนเปลี่ยนกติกาจนไร้ประชาธิปไตย ก็คงไม่แก้ปัญหาอะไรเลย เพราะมันไม่พิสูจน์อะไรที่ใครๆ ไม่ทราบมาก่อน มันไม่ตบหน้าทหารหรือม็อบสุเทพ และมันไม่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ของอำมาตย์ เพราะอำมาตย์ต่อต้านประชาธิปไตย และไม่เคารพการเลือกตั้งหรือเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ อาจไม่มีการเลือกตั้งเร็วๆ นี้ด้วยซ้ำ
     มีการชุมนุมใหญ่ของเสื้อแดงเพื่อไล่รัฐบาลเถื่อนของอภิสิทธิ์ที่ก่อตั้งในค่ายทหาร เสื้อแดงจำนวนมากโดนทหารฆ่าอย่างเลือดเย็น ในที่สุดในปีต่อไปก็มีการยอมให้มีการเลือกตั้ง ยอมให้ยิ่งลักษณ์ขึ้นมาเป็นนายก แต่ก็ถูกล้มในที่สุด
     ถ้าเราถูกบังคับให้มีนายก ม๗ และการเปลี่ยนกติกาเพื่อโกงการเลือกตั้งโดยอำมาตย์และประชาธิปัตย์ เราจะออกมาชุมนุมแบบเดิม หรือจะยกระดับการต่อสู้? และถ้าจะยกระดับการต่อสู้มันหมายความว่าอะไรในรูปธรรม และใครจะนำการต่อสู้ดังกล่าว? แต่แน่นอน ถ้าเราไม่ออกมาสู้เพราะเราเบื่อ น้อยใจ หรือหดหู่ ฝ่ายอำมาตย์ก็จะชนะ
     ที่สำคัญคือใครตั้งรัฐบาล ไม่ได้แปลว่าคุมอำนาจรัฐโดยอัตโนมัติ มันชัดเจนว่าอำมาตย์คุมอำนาจรัฐ โดยเฉพาะ ทหาร ศาล ข้าราชการชั้นสูง และสื่อมวลชนส่วนใหญ่ และพวกนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการและแกนนำเอ็นจีโอด้วย นอกจากนี้ตำรวจก็ไม่รู้จะรับคำสั่งจากใคร ตามลำพังก็ไม่เคยก้าวหน้าอะไร และไม่มีอำนาจมากมาย ตอนนี้ก็แค่กล้าๆ กลัวๆ ส่วน ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ นักการเมืองเพื่อไทย และแกนนำ นปช. ก็ไม่อยากแตกหักกับพวกอำมาตย์ที่คุมอำนาจรัฐ เป้าหมายของเขาคือเพียงอยากกลับเข้าสู่สมาคมอำมาตย์เท่านั้น
     เพื่อนๆ เสื้อแดง เพื่อนๆ ผู้รักประชาธิปไตย ท่านคิดหรือว่าเราจะมีประชาธิปไตยได้ ถ้าไม่กำจัดอำมาตย์แบบถอนรากถอนโคน? ท่านยังฝันต่อไปหรือว่าพรรคเพื่อไทยหรือทักษิณหรือแกนนำ นปช. จะสู้อย่างจริงจังในรูปธรรม? ทักษิณเคยมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยจริงหรือ? ในความเป็นจริงเขาสนใจประชาธิปไตยแค่ในกรณีที่ตนเองชนะการเลือกตั้ง แต่ไม่สนใจสิทธิเสรีภาพพอที่จะยกเลิก 112 หรือละเว้นการก่ออาชญากรรมกับคนมาเลย์มุสลิมในภาคใต้ คนแบบนี้นำการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างถึงที่สุดได้อย่างไร?
     หรือท่านยังฝันอยู่ว่าเมื่อมีการเปลี่ยนรัชกาลจะเกิดประชาธิปไตยแท้? หรือท่านยังฝันอยู่ว่าศาลอาญาระหว่างประเทศจะเข้ามาแก้ปัญหาการเมืองให้เรา?
     ลองพิจารณาให้ดี ความฝันแบบนี้ ที่กล่าวถึงข้างบน ทั้งหมดเป็นความฝันประเภทที่เราฝากให้ผู้ใหญ่มาแก้ไขปัญหาให้เรา และสร้างประชาธิปไตยให้เรา มันเป็นความฝันของทาส
     เราจะรอการล้มรัฐบาลกี่รอบ การก่อตั้งเผด็จการกี่รอบ เราถึงจะเข้าใจว่าเราเองต้องนำตนเองร่วมกับคนอื่น เพื่อสร้างประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพจากล่างสู่บน?
     ถ้าเราเข้าใจว่าการสร้างประชาธิปไตยในไทย คงต้องอาศัยการโค่นโครงสร้างอำมาตย์ เช่นการปลดผบ. ทหาร ลดงบประมาณทหาร ตัดอำนาจทหาร ปลดศาลตุลาการ ยุบองค์กรที่โกหกว่า “อิสระ” ปลด สว.แต่งตั้ง และยึดสื่อมวลชนมาเป็นของประชาชน เราก็คงหลอกตัวเองว่า “เป็นเรื่องง่าย” ไม่ได้ แน่นอนมันไม่ง่าย มันจะใช้เวลา แต่มันจำเป็นถ้าเราจะร่วมกันเป็นพลเมืองที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
     พวกเราในองค์กรเลี้ยวซ้ายพูดซ้ำแล้วซ้ำอีก ว่าการต่อสู้กับอำมาตย์ต้องอาศัยการจัดตั้งมวลชน อย่างเป็นระบบ อิสระจาก นปช. และเพื่อไทย ต้องพัฒนากลุ่มคนก้าวหน้าจากเครือข่ายหลวมๆ ให้การเป็นองค์กรจัดตั้งให้ได้ ต้องมีนโยบายและเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวที่ชัดเจน ต้องมีคณะทำงานที่เป็นแกนนำ ต้องเชื่อมกับหลายส่วนของสังคม มีงานรณรงค์ในหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องปากท้องและการเมืองภาพรวม ต้องมีและขยายสมาชิก มีผู้ปฏิบัตงานที่ผ่านการฝึกฝน ในงานภาคปฏิบัติการ และงานทางความคิด โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว และต้องมีสื่อของเราเอง
     เราไม่ได้ “ขอให้มิตรสหายมาขึ้นอยู่กับเรา” เราขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างเป็นระบบในลักษณะเท่าเทียมกัน
     ที่สำคัญยิ่งคือ เราต้องสนใจ “อำนาจ” เราต้องรวบรวม “พลัง” เพื่อเผชิญหน้ากับอำนาจและพลังของฝ่ายอำมาตย์แบบมืออาชีพ เพราะ “อำนาจ” และ “พลัง” ของฝ่ายเราหาได้ในหมู่คนทำงานกรรมาชีพ โดยเฉพาะเมื่อนัดหยุดงาน และต้องสมทบกับพลังมวลชนของเกษตรกรรายย่อย

     ความจริงนี้ ไม่ได้งอกมาจากสมองใคร มันมาจากบทเรียนในการล้มอำมาตย์หรือต่อสู้กับอำมาตย์ในตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา ยุโรป และจากไทยเองในอดีต ที่สำคัญคือมันทำได้ ถ้าเราอยากทำจริง

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ต้องเปลี่ยนสังคมแบบถอนรากถอนโคน

ต้องเปลี่ยนสังคมแบบถอนรากถอนโคน

ใจ อึ๊งภากรณ์

ตอนนี้มันชัดเจนว่าแนวประนีประนอมของพรรคเพื่อไทย และ แนว นปช. ที่เดินตามเพื่อไทย ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
     ถ้าเราเข้าใจลักษณะของ “รัฐ” ในระบบการเมืองของโลก ตามที่ มาร์คซ์ เองเกิลส์ และเลนิน เคยอธิบาย เราจะเข้าใจว่าการเป็นรัฐบาลในระบบรัฐสภาประชาธิปไตยทุนนิยม ไม่ใช่สิ่งเดียวกับการคุมอำนาจรัฐเลย เพราะรัฐประกอบไปด้วย ทหาร ศาล ตำรวจ และคุก และรัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองทุกซีกทุกก๊ก เพื่อกดขี่ชนชั้นอื่นๆ มันไม่เคยเป็นกลางและไม่เคยเป็นประชาธิปไตย แม้แต่ในประชาธิปไตยตะวันตกก็เป็นแบบนี้ เพียงแต่ว่าในประเทศดังกล่าวพลังของคนทำงานและประชาชนโดยทั่วไป คอยห้ามไม่ให้รัฐล้ำเส้นมากเกินไปเท่านั้น แต่ทุกอย่างไม่แน่นอนมั่นคง พื้นที่ประชาธิปไตยไม่ได้แช่แข็ง มันขยายและมันหดได้



     วันนี้เราเห็นอำนาจรัฐ ผ่านตลก.(ร้าย)รัฐธรรมนูญ โค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งที่สาม ก่อนหน้านั้นเราเห็นทหารทำรัฐประหาร และเห็นทหารเข่นฆ่าคนเสื้อแดงที่ท้าทายเผด็จการและอำนาจรัฐ โดยเรียกร้องประชาธิปไตย เครื่องไม้เครื่องมือในการใช้อำนาจรัฐมีอีกมากมาย เช่นกระบวนการที่คนใหญ่คนโตแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี หรือการใช้วุฒิสภาหรือหัวหน้าสถาบันวิชาการ ในการเชียร์พวกที่มุ่งหวังลดพื้นที่ประชาธิปไตย ส่วนม็อบสุเทพก็เป็นเพียงอันธพาลชนชั้นกลาง เป็นคนส่วนน้อย และผู้อยู่ใต้การอุปถัมภ์ของพรรคประชาธิปัตย์ เขาพยายามสร้างภาพว่าเป็นมวลมหาประชาชน แต่การที่เขาทำอะไรก็ได้บนท้องถนน แสดงว่าส่วนต่างๆ ของรัฐสนับสนุนเขา ถือว่าม็อบสุเทพเป็นเครื่องมือที่ให้ “เอกชน” ทำแทน
     ทักษิณและนักการเมืองพรรคเพื่อไทยเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครอง และเขาเคยเป็นก๊กหนึ่งของรัฐไทย เพราะรัฐไม่ได้มีลักษณะรวมศูนย์เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน มันเป็น “คณะกรรมการเพื่อร่วมบริหารผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุน” อย่างที่ มาร์คซ์ กับ เองเกิลส์ เคยเขียนไว้ และมันมีความขัดแย้งภายในด้วย นี่คือสาเหตุที่ทักษิณและนักการเมืองเพื่อไทยไม่ต้องการนำการต่อสู้ที่แตกหักกับกลุ่มอำนาจอนุรักษ์นิยมของรัฐ
     แต่ถ้าไทยจะเป็นประชาธิปไตย เราต้องเปลี่ยนการเมืองและสังคมแบบถอนรากถอนโคน ถ้าแค่เล่น “ปฏิกูลการเมืองก่อนเลือกตั้ง” มันไม่มีวันที่จะขยายพื้นที่ประชาธิปไตยได้เลย

     สิ่งที่ต้องถูกเปลี่ยนแบบถอนรากถอนโคนมีมากมาย แต่เรื่องหลักๆ เฉพาะหน้าคือ

1. ต้องสร้างพลังของคนธรรมดา เพื่อห้ามการทำลาย หรือจำกัด เสรีภาพประชาธิปไตย และเพื่อให้มีการเคารพพลเมือง ทุกคนต้องมีหนึ่งเสียงเท่ากัน พลังนี้คนอื่นสร้างให้ไม่ได้ ต้องสร้างจากรากหญ้าข้างล่าง
2. ต้องยกเลิกกฏหมาย 112, พรบ.คอมพิวเตอร์ และกฏหมายหมิ่นศาลในรูปแบบปัจจุบัน เพื่อเปิดให้พลเมืองมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามกระบวนการประชาธิปไตยสากล ซึ่งแปลว่าต้องปล่อยนักโทษทางความคิดเช่น สมยศ พฤกษาเกษมสุข และคนอื่น
3. ต้องยกเลิกองค์กรที่อ้างความอิสระ และยกเลิกศาลตุลาการในรูปแบบที่เป็นอยู่ เพราะองค์กรที่อ้างความอิสระทั้งหลายไม่เคยเป็นกลาง และยิ่งกว่านั้นองค์กรที่มาจากการแต่งตั้งโดยทหารหรือฝ่ายเผด็จการอื่นๆ เช่นตลก.(ร้าย)รัฐธรรมนูญ มักใช้อำนาจเผด็จการเหนือผู้แทนที่ได้รับเลือกมาจากประชาชน ที่สำคัญคือแนวคิดเรื่อง องค์กรอิสระ เป็นแนวคิดที่มองว่าพลเมืองส่วนใหญ่ไม่มีวุฒิภาวะในการลงคะแนนเสียง จึงต้องให้ ผู้รู้คอยควบคุมตรวจสอบ ในอนาคตเราจะต้องคานอำนาจหรือตรวจสอบรัฐบาลและรัฐสภาด้วยองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น
4. ต้องลดบทบาททางการเมืองและสังคมของทหารลงไป เพื่อไม่ให้ทำรัฐประหารหรือแทรกแซงการเมือง ซึ่งแปลว่าต้องลดงบประมาณ ปลดนายพลจำนวนมาก และนำทหารออกจากสื่อมวลชนและรัฐวิสาหกิจ
5. ต้องสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชน ด้วยการนำ “ฆาตกรรัฐ” มาขึ้นศาล ไม่ว่าจะเป็นทหารระดับสูง หรือนักการเมืองอย่าง อภิสิทธ์ สุเทพ หรือ ทักษิณ และต้องมีการยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศอีกด้วย
6. ต้องเก็บภาษีในอัตราสูงจากคนรวยอย่างถ้วนหน้า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำผ่านการสร้างรัฐสวัสดิการ


ถ้าจะทำสำเร็จต้องทำพร้อมกัน และทำด้วยความมั่นใจ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องอาศัยพลังที่อยู่นอกกรอบรัฐในการกระทำ คือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยนั้นเอง ซึ่งตอนนี้มีอยู่แล้วในรูปแบบเสื้อแดง อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวต้องอาศัยแนวความคิดทางการเมือง ซึ่งในขบวนการเสื้อแดงมีหลายแนว ในเมื่อแนวหลักของ นปช. กับเพื่อไทย ใช้ไม่ได้ และไม่มุ่งหวังสร้างประชาธิปไตยจริง กลุ่มคนที่อยากเปลี่ยนสังคมแบบถอนรากถอนโคน ต้องพยายามรวมตัวกันเป็นองค์กร เพื่อช่วงชิงการนำ และเพื่อลงมือสร้างสายสัมพันธ์กับขบวนการสหภาพแรงงานที่เห็นด้วยกับประชาธิปไตย เพราะในสังคมทุนนิยม กรรมาชีพมีพลังถ้ารู้จักใช้

Read Comments
  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น